Neo Tokyo (1987)
: Rintaro, Yoshiaki Kawajiri, Katsuhiro Ōtomo ♥♥♥♥
สามเรื่องสั้นไซไฟ Surrealist จากสามผู้กำกับดัง Rintaro (Metropolis), Yoshiaki Kawajiri (Ninja Scroll, Vampire Hunter D: Bloodlust) และ Katsuhiro Ōtomo (Akira, Steamboy) นำเสนอมุมมองกรุงโตเกียวแห่งอนาคต ในลักษณะลุ่มลึกซึ้งเกินกว่าใครหลายๆคนจะเข้าใจ
ค่านิยมหนึ่งของวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่น ช่วงปลายทศวรรษ 80s คือการสร้าง Anthology Film รวมเรื่องสั้นจากหลากหลายผู้กำกับดัง เพราะถือว่าใช้งบประมาณไม่มากเท่าไหร่เมื่อเทียบอนิเมะขนาดยาวเต็มเรื่อง แถมยังสามารถให้อิสรภาพในการครุ่นคิดสร้างสรรค์ จะสุดเหวี่ยงหลุดโลกยังไงก็ได้เต็มที่ เพราะเพียงมีเรื่องหนึ่งใดถูกอกถูกใจผู้ชม ก็พอขายออกทำกำไรไหว
Neo Tokyo นำเสนอมุมมองของสามผู้กำกับอนิเมะชื่อดังแห่งยุค จินตนาการถึงกรุงโตเกียวในอนาคตไกลโพ้น พัฒนาขึ้นโดยมีพื้นฐานแนวคิดจากยุคสมัยปัจจุบันนั้น ถ้าสมมติเรื่องราวบางอย่างได้รับการสานต่อยอดไปเรื่อยๆ ถึงระดับที่สุดโต่ง จุดหมายปลายทางสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะพอทำความเข้าใจเนื้อหาทีละตอนได้ไม่ยาก แต่ถ้าต้องการครุ่นคิดหานัยยะสื่อความหมาย คงได้เกาหัวกุมขับ แล้ว ‘Concept’ ของอนิเมะทั้งสามเรื่องมัน Neo Tokyo ยังไง?
Labyrinth Labyrinthos
สร้างโดยผู้กำกับ Rintaro ชื่อจริง Shigeyuki Hayashi (เกิดปี 1941) เข้าสู่วงการจากเป็น In-Between Animator ให้กับ Hakujaden (1958) จากนั้นได้เข้าทำงาน Toei Animation ต่อด้วย Mushi Productions ทำให้ได้รู้จักกับ Osamu Tezuka จนมีโอกาสกำกับตอนที่ 4 ซีรีย์ Astro Boy (1963), ผลงานเด่นๆ อาทิ ซีรีย์ Moomin (1969), ภาพยนตร์ Bonjour Galaxy Express 999 (1979), The Dagger of Kamui (1985), Phoenix: Karma Chapter (1986), Neo Tokyo (1987), Metropolis (2001) ฯ
เรื่องราวของ Sachi เด็กหญิงสาวชื่นชอบเล่นเกมซ่อนหากับแมวตัวโปรด Cicerone ทำให้อยู่ดีๆค้นพบประตูสู่โลกปริศนา เต็มไปด้วยสิ่งเหนือธรรมชาติ มีลักษณะเหมือนเขาวงกต พบเห็นตัวตลกคนหนึ่ง เลยรีบวิ่งติดตามไปจนพบเจอเต้นท์คณะละครสัตว์
ต้องถือว่า Rintaro รับเอาอิทธิพลจาก Osamu Tezuka มาปรับใช้อนิเมะเรื่องนี้อย่างเยอะ ซึ่งในบรรดาสามเรื่องสั้นของ Neo Tokyo ถือว่า Labyrinth Labyrinthos เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์มากมายที่สุด เล่าเรื่องด้วยภาพ การกระทำและ Sound Effect (ไม่เน้นการพากย์เสียง) สมชื่อตอนเขาวงกตโดยแท้
ภาพแรกของอนิเมะ ค่อยๆเคลื่อนซูมเข้าไป ถ้านี่ไม่ใช่ Neo Tokyo ในมุมมองผู้กำกับ Rintaro ก็คงผิดคอนเซ็ปแล้วละ! ดูจากรูปลักษณะก็พอตีความได้ว่า เป็นโลกปรักหักพัง มีเต้นท์คณะละครสัตว์อยู่กึ่งกลาง ทุกสิ่งอย่างในอนาคตไม่ต่างจากตัวตลก เพียงภาพลวงตาเท่านั้นที่มองเห็น
เด็กหญิง Sachi นิสัยร่างเริงสนุกสนาน ทาลิปสติกให้แลดูเหมือนหนวดแมว สวมกางเกงหลวมๆไม่พอดีตัว สะท้อนถึงความมักมาก ไม่รู้จักพอ เพลิดเพลินกายใจไปกับปัจจัยภายนอก
อยู่ดีๆก็ปรากฎภาพการสับทำเส้นของแม่ -เน้นมากจนผิดสังเกต- คงสะท้อนถึงการแบ่งแยกของมนุษย์ในอนาคต ไม่ได้มีความเป็นปึกแผ่น สมัครสมานสามัคคี ใครๆต่างตัวใครตัวบนโลกนี้ (ไม่ต่างจากเส้นก๋วยเตี๋ยวเหล่านี้)
เด็กหญิงหลบซ่อนตัวอยู่ใต้อ่างล้างจาน เล่นลิปติกเรืองแสง ถึงเธออาจยังเด็กเกินไปไม่รับล่วงรู้นัยยะความหมาย แต่สำหรับผู้ใหญ่ หญิงสาวในอนาคต ความงามเปลือกนอก จากการแต่งงาน คือสิ่งเลอค่า จำเป็น สำคัญสูงสุด … จริงไหมละครับ!
Cicerone (แปลว่า คนรับจ้างพาท่องเที่ยว) เจ้าเหมียวหลบซ่อนตัวในนาฬิกา สัตว์สัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ ความไร้เดียงสา(ของมนุษย์) ซึ่งในอนาคตจักถูกจัดเก็บ/ทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่ได้รับการใส่ใจดูแลอีกต่อไป
กล่าวคือ มนุษย์แห่งโลกอนาคต จะละเลิกใส่ใจในความสำคัญของจิตวิญญาณ หันมาลุ่มหลงใหลนิยมในวัตถุมากกว่า
เต่าคือสัญลักษณ์ของสติปัญญา ถูกเหยียบเข้าที่หัวโดยรถลาก นี่เช่นกันแปลว่า โลกอนาคตไม่ให้ความสนใจกับคุณค่าของคน ผลประโยชน์ ความสุขสบาย กระทำชั่วได้ดีมีถมไป … นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเล่นนะครับ!
Sachi อยู่ดีๆก็ค้นพบโลกลึกลับด้านหลังกระจก ชักชวนให้ Cicerone มาร่วมท่องเที่ยวไปด้วยกัน แม่จะว่าอะไรนั้นก็ช่างหัวไม่สนใจ โหยหาอิสรภาพพึงพอใจส่วนตัวสถานเดียว
โลกในกระจกสะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเด็กหญิงแห่งโลกอนาคต สิ่งที่เธอจักได้พบเจอประกอบด้วย…
อะไรก็ไม่รู้เดินล่องลอยไป แม้แต่ปลอกคอสุนัขยังไร้ตัวตนจับต้องได้ … นี่ไม่ได้สื่อผีสางหรือวิญญาณอะไร แต่สะท้อนถึงการไม่มีตัวตนของมนุษย์ในโลกอนาคต เพราะทุกคนแทบจะแสดงออกเหมือนกันหด เพียงพอปอกคอมีชื่อเท่านั้น ใช้บ่งบอกว่าเป็นใคร
มนุษย์ไม่ต่างอะไรจากโดมิโน่ หุ่นกระดาษแข็ง ถูกผลักนิดหน่อยก็หกล้มคะเมนต่อกันเป็นทอดๆ จากนั้นกลายร่างเป็นวิญญาณอาฆาตสีดำ … ก็ไม่รู้ทำอะไรได้เหมือนกัน
กล่าวคือ มนุษย์ในอนาคตจะมีความเปราะบาง ไร้ความเข้มแข็ง/ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ทำอะไรผิดพลาดนิดๆหน่อยๆ ถูกนักเลงคีย์บอร์ดกราดกระหนำ จิตใจก็หล่นไปอยู่แทบเท้าตาตุ่ม ตกอยู่ในสภาวะหดหู่ หมดสิ้นหวังอาลัย
อีกหนึ่งค่านิยมของโลกอนาคต ชื่นชอบอะไรที่มันใหญ่ๆโตๆ เต็มไปด้วยแสงสีสัน เงยหน้ามองแล้วอ้าปากค้าง เกิดความลุ่มหลงใหล ต้องการทะเยอทะยานไขว่คว้าอยากเป็นหนึ่งในดาวดาราค้างฟ้า
Sachi และ Cicerone ก็ได้ถูกล่อลวงโดยตัวตลก พานผ่านเขาวงกต มาถึงเต้นท์คณะละครสัตว์ ชักชวนเข้าไปเพื่อรับชมหนังสั้นอีกสองเรื่องที่เหลือ (ทำเป็นประมาณ Film within Film) เพื่อให้ตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะไปหรือจะยังไง!
สรุปแล้ว Labyrinth Labyrinthos คือเรื่องราวการเดินทางของเด็กหญิงในเขาวงกต พานพบเห็นสิ่งต่างๆที่น่าอัศจรรย์ใจ ชวนให้ลุ่มหลงใหล สุดท้ายแล้วเธอจะตัดสินใจเช่นไร … ไปเฉลยคำตอบในปัจฉิมบท
Running Man
สร้างโดย Yoshiaki Kawajiri (เกิดปี 1950) นักเขียน/อนิเมเตอร์/ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น เกิดที่ Yokohama หลังเรียนจบเข้าทำงานเป็นนักอนิเมเตอร์ที่ Mushi Production Animation ตามด้วย Madhouse Studio เลื่อนขึ้นมาเป็น Animation Director, กำกับอนิเมะเรื่องแรก Lensman: Secret of The Lens (1984), ผลงานเด่น อาทิ Ninja Scroll (1993), Vampire Hunter D: Bloodlust (2000), The Animatrix (2003) ฯ
เรื่องราวของ Zack Hugh เจ้าของฉายา ‘Running Man’ แชมเปี้ยนผู้ไม่เคยพ่ายแพ้การแข่งรถ Death Circus ตลอดระยะเวลาสิบปี แต่วันนี้เล่าผ่านมุมมองนักข่าวคนหนึ่งถูกส่งมาให้สัมภาษณ์ พานพบเห็นพลังจิตของ Hugh ที่เพิ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดร่างกายเกินรับไหว และนั่นกำลังจะกลายเป็นการแข่งขันครั้งสุดท้ายในชีวิต
ชีวิตในโลกอนาคตคือการแข่งขัน ดำเนินเวียนวนภายในรัศมีวงกลม ‘Rat Race’ ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น! … นี่คือค่านิยมของคนยุคสมัย 80s (ที่ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นจริงอยู่) มนุษย์เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน เพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จ ไต่เต้าถึงจุดสูงสุด พยายามทำทุกสิ่งอย่างไม่สนถูก-ผิด เกินขีดจำกัดของร่างกายก็ช่าง ที่หนึ่งมีเพียงอันดับเดียวเท่านั้น
พลังจิตของ Zack Hugh สามารถตีความเชิงสัญลักษณ์ ถึงอาการหมกมุ่น ทุ่มเท ตั้งมั่นกับการทำงาน/บางสิ่งอย่างมากเกินพอดี จากพลังกายเลยแปรสภาพสู่พลังจิต เอาชนะขีดความสามารถ/ข้อจำกัดของตนเอง จนกลายเป็น… อะไรก็ไม่รู้
ในสนามแข่ง Death Circus จะมีช็อตหนึ่งกล้องเคลื่อนติดตามรถแข่ง พานผ่านป้าย Billboard อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางสนามพอดิบพอดี! สะท้อนถึงค่านิยมแห่งโลกอนาคต มนุษย์จักทำทุกสิ่งอย่างเพื่อบริโภควัตถุนิยมคือศูนย์กลางจักรวาล
พลังจิตของ Zack Hugh ไม่เพียงสงผลกระทบต่อตัวเขา แต่ยังละลานนักแข่งอื่น เล่นเกมสกปรกจนเกิดอุบัติเหตุ โศกนาฎกรรม ท้ายสุดไม่มีใครหลงเหลือเข้าเส้นชัย (นอกจากตัวเขา) แถมผู้ชมส่งเสียงเชียร์เฮลั่น … นี่สะท้อนค่านิยมโลกอนาคต ชัยชนะเท่านั้นคือสิ่งสำคัญสูงสุด ความตายของผู้แพ้ไม่ได้มีคุณค่าสลักสำคัญอะไร
คู่แข่งคนสุดท้ายในชีวิตของ Zack Hugh ไม่ใช่ใครอื่น คือภาพหลอน/จิตวิญญาณ อีกตัวตนของเขาเอง เห็นเพียงภาพเลือนลาง ไม่รู้ว่าใครแต่คิดว่านั่นคือศัตรู พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแซงหน้า สำเร็จแล้วก็กลายเป็นอากาศธาตุ
เมื่อมนุษย์มีความลุ่มหลงใหลในชัยชนะมากเกินไป เขาจึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างจนเกินขีดข้อจำกัดสามารถ จริงอยู่มันอาจเป็นสิ่งน่ายกย่องสรรเสริญ แต่ในอีกมุมหนึ่งคือโง่เขลาเบาปัญญา ทำไมไม่รู้จักเพียงพอดี เร่งรีบร้อนตายไปเพื่ออะไร
Construction Cancellation Order
สร้างโดย Katsuhiro Otomo (เกิดปี 1954) นักวาดการ์ตูน กำกับอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tome, Miyagi ตั้งแต่เด็กมีความลุ่มหลงใหลในภาพยนตร์ แต่พอเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Tokyo เพื่อเป็นนักวาดการ์ตูน ตีพิมพ์เรื่องสั้น กระทั่ง Dōmu (1980-83) คว้ารางวัล Nihon SF Taisho Award เลยมีโอกาสผันตัวสู่วงการอนิเมะ เริ่มจากออกแบบตัวละคร (Character Design) ให้กับ Harmagedon (1967), ระหว่างนั้นเขียนมังงะ Akira และได้รับโอกาสดัดแปลงภาพยนตร์อนิเมชั่น Akira (1988)
เรื่องราวเกิดขึ้นที่เมืองสมมติ Aloana Republic อยู่ทางทวีปอเมริกาใต้ ภายหลังการปฏิวัติได้รัฐบาลใหม่ ต้องการยกเลิกการก่อสร้างแผนก Facility 444 มอบหมายให้พนักงานกินเงินเดือน Tsutomu Sugioka ออกเดินทางไปหยุดยับยั้ง แต่ทุกสิ่งที่นี่ขึ้นตรงกับหุ่นยนต์ Robot 444-1 เมื่อไม่สามารถพูดออกคำสั่งใดๆได้ สุดท้ายแล้วเขาจะมีวิธีเช่นไรให้ทุกสิ่งอย่างจบสิ้น
เมือง Facility 444 แน่นอนว่าสามารถเปรียบเทียบได้กับ Neo Tokyo ทุกสิ่งอย่างควบคุมด้วยหุ่นยนต์ สะท้อนถึงมนุษย์สมัยนั้นมีหน้าที่เพียงปฏิบัติตามคำสั่ง ไร้สิทธิ์ขัดขืนต่อต้านใดๆ ก้มหน้าก้มตา เกินเวลาการงานก็ช่าง คุณภาพไม่สลักสำคัญเท่าเดทไลน์/เส้นตาย ใครไหนแสดงความคิดเห็นขัดแย้งแตกต่าง จัดถูกกำจัดให้พ้นภัยพาลโดยไว
จากอาหารมนุษย์ ค่อยๆกลายเป็นอาหารขยะ ถือเป็นการสะท้อนตรงๆถึงมนุษย์แห่งอนาคต จักค่อยๆแปรสภาพกลายเป็นเหมือนเครื่องจักรกล ไร้สมอง/สติปัญญา ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เฝ้ารอคอยปฏิบัติตามคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น … ราวกับพระเจ้า
เหนือฟ้ายังมีฟ้า การโต้ตอบกลับของ Tsutomu Sugioka มาในรูปแบบคาดไม่ถึง หลบซ่อนตัวอยู่บนเพดาน แล้วใช้เหล็กฟาดศีรษะ Robot 444-1 เข้าให้ … แต่แม้ส่วนหัวถูกทำลาย ก็ไม่ได้จะทำให้มนุษย์ในโลกอนาคตหวนกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม เพราะโปรแกรม/คำสั่ง ได้ฝังลึกลงใน DNA เรียบร้อยแล้ว
จริงอยู่มันอาจมีจุดเริ่มต้นกำเนิดอยู่เบื้องหลัง แต่อนิเมะไม่นำเสนอไปถึงจุดนั้น เพราะหาใช่สาระสลักสำคัญใดๆ … แค่เพียงภาพมุมมองต่อ Neo Tokyo ก็ถือว่าครบถ้วนคอนเซ็ปแล้ว!
เพราะมนุษย์ยุค 80s แทบไม่มีความครุ่นคิดอ่านเป็นของตนเอง วันๆทำงานงกๆไม่ต่างจากหุ่นยนต์ ผู้กำกับ Otomo เลยแปรสภาพจากนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมในอนิเมะเรื่องนี้ ขณะที่การผจญภัยของซาลารี่แมน ก็แทบไม่มีคุณค่าความหมายอันใด แค่ดิ้นรนเอาตัวรอด เสนอหน้าฟันเหยินไปวันๆ อยากทำตัวเป็นฮีโร่เลยถูกตัดจบโดยทันที
Epilogue
หลังจากรับชมสองเรื่องราวจบสิ้น คณะละครสัตว์ได้ออกมาเต้นระบำเป็นวงกลม -ชวนให้หวนระลึกนึกถึงตอนจบของ 8½ (1963) ขึ้นมาโดยทันที- สิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดมากมายเหล่านี้ ช่างเต็มไปด้วยความสนุกสนานหรรษา จุดพลุ โลดโผน กระโดดเล่นไปมา พยายามชักชวน Sachi ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
เด็กหญิงจะไปรับรู้ประสีประสาอะไร เมื่อพบเห็นสิ่งยั่วเย้ายวนอันเต็มไปด้วยสีสัน สนุกสนานหรรษา เธอจึงพุ่งถาโถมเข้าใส่ โอบรับเอาอนาคตแห่ง Neo Tokyo กลายเป็นวิถีของตนโดยบัดดล
นี่เป็นตอนจบที่ผมว่าโคตรเจ๋งเป้ง และหมดสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง! สะท้อนว่ามนุษย์แห่งโลกอนาคต เมื่อครั้นวัยเด็กเติบโตพบเห็นอะไรๆ ย่อมไม่สามารถอดรนทนต่อความยั่วเย้ายวน สิ่งลวงล่อหลอกเหล่านี้ได้ แถมยังไม่ยื้อยักชักช้ารีรอ กระโดดเข้าหาถาโถมใส่ ไร้ซึ่งความครุ่นคิดเข้าใจ เหมารวมไปว่าทุกสิ่งอย่างเป็นวิถีที่ถูกต้องของสังคม
สำหรับเพลงประกอบ นอกจาก Original Score โดย Godiego และ Mickie Yoshino มีการเลือกใช้หลายบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ เสริมเติมอรรถรส โลกอนาคตได้อย่างเหนือกาลเวลาโดยแท้ อาทิ
– Erik Satie: Gymnopédies
– Georges Bizet: Carmen ท่อน Votre Toast (Toreador Song)
– Edvard Grieg: Peer Gynt ท่อน Morning Mood
การเลือกใช้เพลงประกอบมีความลงตัวอย่างมาก Moring Mood ดังขึ้นครั้งแรกตอน Labyrinth Labyrinthos ด้วยอารมณ์เหงาๆ ว่างเปล่า น่าเบื่อหน่าย อีกครึ่งหนึ่งทุกยามเช้าของ Construction Cancellation Orde แต่ด้วยอารมณ์ที่ตัวละครขุ่นเขืองกับเจ้าหุ่นยนต์
ทั้งสามเรื่องราวของ Neo Tokyo แทบจะมีเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อนาคตประเทศญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยสิ่งลวงหลอกตา ค่านิยมผิดๆ แข่งขันกันเพียงเพื่อเอาชนะ จนมีวิถีชีวิตไม่ต่างจากหุ่นยนต์ตามคำสั่งโปรแกรม
ถือเป็นปกติมากๆในช่วงทศวรรษ 80s – 90s ที่ผู้สร้างอนิเมะ/งานศิลปะ จะสะท้อนมุมมองความหมดสิ้นหวังของอนาคต (ของมวลมนุษยชาติ) เพราะคนรุ่นนั้น (Baby Boomer) มักถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เติบโตยุคสมัยสงครามเย็น พานพบเห็นแต่ความทุกข์ยากลำบาก เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด บรรยากาศวันๆก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด อึดอัดคับข้องใจ … เช่นนั้นแล้วให้จินตนาการถึงอนาคตที่สว่างสดใสได้เช่นไร!
แต่ถึงอย่างนั้นอนิเมะเรื่องนี้ รับชมในปัจจุบันถือว่ายังไม่ตกยุคสมัยเลยนะครับ เรียกได้ว่า ‘เหนือกาลเวลา’ เพราะทิศทางของโลกยังคงหมุนวนไปในมุมมองความเข้าใจนั้น ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากทศวรรษ 80s แม้แต่น้อย … นี่เป็นสิ่งน่าหวาดหวั่นวิตกยิ่งทีเดียว!
อนิเมะฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Tōkyō International Fantastic Film Festival เมื่อปี 1987 จากนั้นได้รับการจัดจำหน่ายโดย Tōhō Company ลง Direct-to-Video ปรากฎว่าเสียงตอบรับ/ยอดขายดีมากๆ เลยนำออกฉายโรงภาพยนตร์ปี 1989
สำหรับคนมีความสนใจในอนิเมะแนว Anthology Film แนะนำต่อกับ Robot Carnival (1987), Memories (1995), The Animatrix (2003), Short Peace (2013) ฯ
เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงมีความชื่นชอบประทับใจตอน Construction Cancellation Order ด้วยเนื้อเรื่องราวที่สามารถจับต้องได้ ถือว่าเข้าใจง่ายสุด! แต่โดยส่วนตัวคลุ้มคลั่งไคล้ Labyrinth Labyrinthos เพราะเต็มไปนัยยะเชิงสัญลักษณ์มากมาย ท้าทายการครุ่นคิดวิเคราะห์ ไขปริศนาออกก็จักเกิดความภาคภูมิใจเป็นพิเศษ
Neo Tokyo ถือได้ว่าเป็น ‘high art’ ที่มีความลุ่มลึก ซับซ้อน ไม่ได้แฝงสาระข้อคิดอะไร แต่เต็มด้วยเทคนิค ภาษา การเล่าเรื่องชั้นสูง ถ้าคุณไม่ใช่คออนิเมะ ลุ่มหลงใหลแนว Sci-Fi, Futurist ชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ แนะนำให้ข้ามไปจะดีกว่านะครับ
จัดเรต 18+ กรุงโตเกียวแห่งอนาคต ช่างเต็มไปด้วยความมืดหมองหม่น
Leave a Reply