The Birds (1963) hollywood : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡

การโจมตีของนก มันอาจไม่มีเหตุผลทางกายภาพอะไรรองรับ แต่มีลักษณะเหมือนการสะท้อนความรู้สึกบางอย่างออกมาจากจิตใจของตัวละคร, นี่คือผลงาน Masterpiece เรื่องสุดท้ายของ Alfred Hitchcock ที่จะสร้างความหวาดหวั่น สะพรึงกลัวด้วย Special Effect ที่มีความคลาสสิกเหนือกาลเวลา

ในบรรดาหนังของ Alfred Hitchcock มีทั้งหมด 4 เรื่องที่ผมจัดว่าคือ Masterpiece ประกอบด้วย Rear Window (1954), Vertigo (1958), Psycho (1960) และ The Birds (1963) ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นผลงานมีความโดดเด่นเฉพาะตัว ลึกซึ้งในการคิดวิเคราะห์ท้าทายความเข้าใจ และความสำเร็จ Achievement บางอย่างให้กับวงการภาพยนตร์

สำหรับ The Birds เป็นผลงานที่ต้องถือว่า ประสบความสำเร็จสูงสุดในด้าน Special Effect สามารถผสมผสานนกจริงๆ, หุ่นนก และภาพวาดนก ได้อย่างแนวเนียน ตรงตามความตั้งใจ Storyboard และสามารถสร้างอารมณ์ ความรู้สึก เรียกเสียงกรีดร้องจากผู้ชมได้

จริงอยู่ที่คอหนังสมัยนี้อาจรู้สึกขบขันพิลึก ไม่เห็นมันจะเนียน สมจริง เป็นธรรมชาติตรงไหน? แต่ลองเพ่งพินิจพิจารณาให้ดีนะครับ คุณสามารถแยกออกจริงๆหรือเปล่า ไหนนกจริงๆ ไหนหุ่น หรือฉากไหนพื้นหลังเป็นภาพวาด จะบอกว่ากว่าครึ่งถ่ายทำในสตูดิโอที่ Hollywood ไม่อยากจะเชื่อละสิ แสดงว่าคุณกำลังโดนเวทย์มนต์คาถาของ Hitchcock หลอกตาเข้าให้แล้ว

ก่อนที่จะไปเริ่มต้นบทความนี้ ตัวอย่างหนังแรก Teaser Trailer ของ The Birds ผู้กำกับ Alfred Hitchcock มีอะไรบางอย่างต้องการบอกกับคุณก่อน

หลังเสร็จ Psycho (1960) พักงานสร้างภาพยนตร์ไปหลายปี ทุ่มเวลาให้กับ Alfred Hitchcock Presents (1955 – 1965) รายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศช่อง CBS กับ NBC ถือว่าประสบความสำเร็จได้รับความนิยมอย่างสูง ระหว่างนั้นก็เริ่มมองหาโปรเจคภาพยนตร์เรื่องถัดไป

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1961 ได้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นที่ Capitola, California เมื่ออยู่ดีๆชาวเมืองได้ยินเสียงนกจมูกหลอด (Shearwaters) พุ่งชนผนังบ้าน กระแทกกระจกแตก ท้องถนนเต็มไปด้วยฝูงนกตายเกลื่อนกลาด สำนักข่าวรายงานว่า นกเหล่านี้ได้ถูกวางยาพิษแต่ไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเรื่องนี้ไปเข้าหู Hitchcock มีหรือจะไม่เกิดความสนใจ

ระหว่างทำการค้นคว้าหาข้อมูล ก็ได้ไปพบกับหนังสือรวมเรื่องสั้น The Apple Tree (1952) [หรือ The Birds and Other Stories] ของนักเขียนหญิงสัญชาติอังกฤษ Daphne du Maurier (1907 – 1989) มีตอนหนึ่งชื่อ The Birds เรื่องราวของชาวนาคนหนึ่ง ครอบครัว และชาวเมือง Cornwall, ประเทศอังกฤษ ต่างถูกฝูงนกจากต่างถิ่น จู่โจมตีในลักษณะทิ้งดิ่งยอมตาย นัยยะการเหตุการณ์นี้ สื่อถึงการถูกโจมตีทางอากาศของประเทศอังกฤษ (น่าจะในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2)

เกร็ด: Hitchcock เคยนำนิยายของ Daphne du Maurier มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว 2 เรื่อง คือ Jamaica Inn (1939) กับ Rebecca (1941), และอีกผลงาน Masterpiece ของเธอคนนี้คือ Don’t Look Now ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Nicolas Roeg

เดิมนั้น Hitchcock มีความต้องการให้ Joseph Stefano ผู้ดัดแปลง Psycho มาพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ แต่เจ้าตัวบอกปัดเพราะไม่มีความสนใจในเรื่องราวเหนือธรรมชาติ จึงมอบหมาย Evan Hunter หนึ่งในนักเขียน Alfred Hitchcock’s Mystery Magazine ที่เคยพัฒนาบทรายการโทรทัศน์ Alfred Hitchcock Presents ให้มาดัดแปลงบทภาพยนตร์ แม้เจ้าตัวจะได้รับชื่อในเครดิต แต่เหมือนว่าบทถูกแก้ไขไปมากทีเดียวจาก Script Doctor โดย Hume Cronyn และ V. S. Pritchett [ไม่ได้รับเครดิตทั้งคู่]

เรื่องราวของ Melanie Daniels (รับบทโดย Tippi Hedren) หญิงสาวไฮโซที่ชื่นชอบการกลั่นแกล้งผู้อื่น ได้พบเจอทนายหนุ่ม Mitch Brenner (รับบทโดย Rod Taylor) ที่ร้านขายนกแห่งหนึ่งใน San Francisco เธอจึงปลอมตัวเป็นคนขายนก พยายามกลั่นแกล้งเขาแต่กลับถูกจับได้ ด้วยความขุ่นเคืองเสียหน้า ต้องการล้างแค้นแก้เผ็ด หญิงสาวนำนก Lovebirds บริการจัดส่งให้ถึงบ้านริมฝั่งทะเล Bodega Bay, California แต่ขณะกำลังแล่นเรือข้ามฝากกลับถูกนกนางนวล (Seagull) พุ่งชนจนได้รับบาดเจ็บ ไม่นานต่อจากนั้นก็มีเหตุการณ์แปลกประหลาดลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ลุกลามแพร่ขยายใหญ่โต มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่? ธรรมชาติกำลังเอาคืนมนุษย์ หรือวันโลกาวินาศกำลังคืบคลานเข้ามา

สำหรับนักแสดงนำ Hitchcock มีความต้องการให้ Cary Grant ประกบคู่กับ Grace Kelly แต่ก็เปลี่ยนใจเพราะอยากให้นกเป็นพระเอกมากกว่า (กล่าวคือ ถ้าเลือกนักแสดงมีชื่อ จะโดดเด่นกว่าฝูงนกเป็นไหนๆ) ส่วน Kelly ตอนนั้นแต่งงานกลายเป็นเจ้าหญิงไปแล้ว ไม่เหมาะสมที่จดหวนกลับมารับงานภาพยนตร์ (เห็นว่า Hitchcock เดินทางไปชักชวนถึง Monaco เลยนะ)

Nathalie Kay ‘Tippi’ Hedren (เกิดปี 1930) นักแสดงหญิง, โมเดลลิ่ง และนักรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์ (animal rights activist) เกิดที่ New Ulm, Minnesota ครอบครัวอพยพมาจาก Sweden, Germany ชื่นชอบการเดินแบบตั้งแต่เด็ก พออายุ 20 ซื้อตั๋วเดินทางไป New York City กลายเป็นโมเดลลิ่งประสบความสำเร็จพอสมควร ปี 1962 ได้รับการค้นพบโดย Hitchcock จากสป๊อตโฆษณาหนึ่่ง จับเซ็นสัญญาทาส 7 ปี แต่มีผลงานร่วมกันเพียง 2 เรื่องเท่านั้นคือ The Bird (1963) และ Marnie (1964) ถูกยกเลิกสัญญา เพราะความไม่พึงพอใจที่ตัวเองถูกมองว่าเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่ง, ผลงานอื่นๆ อาทิ A Countess from Hong Kong (1967), Citizen Ruth (1996), I Heart Huckabees (2004) ฯ

สำหรับความสนใจในสิทธิสัตว์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากหนังเรื่องนี้นะครับ เป็นช่วงปี 1969 หลังจากได้ถ่ายทำหนัง 2 เรื่องติดในทวีปแอฟริกา Tiger by the Tail (1970) กับ Satan’s Harvest (1970) ได้เรียนรู้จักวิถี เข้าใจชีวิตของสัตว์ป่า ใช้เวลา 11 ปี เพื่อสร้างหนังแนวอนุรักษ์เรื่อง Roar (1981) [นี่เป็นหนังที่ได้รับการกล่าวถึงว่า ‘most dangerous film shoot in history’] ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร Roar Foundation และยังออกเดินทางทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติต่างๆมากมาย

รับบท Melanie Daniels หญิงสาวผู้มีความแก่นแก้ว ทั้งๆที่ก็โตเป็นสาวแล้ว แต่ยังมีความดื้อซนทำตัวเหมือนเด็ก เอาแต่ใจตัวเอง (คงเพราะได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจสุดๆ บ้านรวยนิ) เธอไม่รู้ตัวเองว่ากำลังตกหลุมรัก Mitch Brenner แต่พอได้ประสบพบเจอสิ่งต่างๆ และผ่านค่ำคืน … ทำให้เข้าใจความต้องการของตนเอง

มันจะมีฉากจูบหนึ่งกลางเรื่องที่น่าพิศวงมาก หลายคนคงสงสัยทั้งสองไปตกหลุมรักลงเอยกันตอนไหน? เราสามารถมองเป็น Off-Screen ว่าค่ำคืนนั้นพวกเขาได้ร่วมรักกันในบ้านของแม่ นั่นคือเหตุผลให้พวกเขาจูบแสดงความรักกันได้ในช่วงเช้า

เกร็ด: ถ้าไม่นับ Prologue ที่ Melanie ใส่ชุดสีขาวทับดำ ที่ Bodega Bay จะสวมแต่ชุดสูทสีเขียวเท่านั้น (สีของธรรมชาติ มักมีนัยยะถึงความลังเลไม่แน่นอนใจ)

การแสดงของ Hedren มีความเป็นตัวของตนเองสูงมาก น้ำเสียง ท่าทาง การเดิน เชิดหน้า หรือขณะหวาดกลัว ส่ายหัว ดิ้นไปมา สายตาแสดงออกจากภายใน ด้วยความสะพรึง ตระหนักถึงอันตราย และรวดร้าวทุกข์ทรมาน, ทั้งๆที่ไม่เคยผ่านโรงเรียนการแสดงหรือมีความฝันเดินทางสายนี้ตั้งแต่แรก แต่หนังเรื่องนี้ที่ได้การทำงานกับ Hitchcock ทำให้ Hedren ได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า กลายเป็นนักแสดงยอดฝีมือที่ได้รับการจับตา ถึงขนาดคว้ารางวัล Golden Globe Award: Most Promising Newcomer – Female

Rodney Sturt ‘Rod’ Taylor (1930 – 2015) นักแสดงสัญชาติ Australian เกิดที่ Lidcombe, New South Wales โตขึ้นเข้าเรียนที่ East Sydney Technical and Fine Arts College ตั้งใจเป็นศิลปินแต่เปลี่ยนมาสายการแสดงหลังจากเห็น Laurence Olivier มาเปิดทัวร์การแสดงเรื่อง Richard III, หลังจากพอมีชื่อเสียงในประเทศ เดินทางสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์มากมาย ได้รับบทนำครั้งแรก The Time Machine (1960) ให้เสียงพากย์ One Hundred and One Dalmatians (1961) โด่งดังสูงสุดกับ The Birds (1963) และ Enter the Dragon (1973)

รับบททนายหนุ่มสุดหล่อ Mitchell ‘Mitch’ Brenner เป็นผู้มีไหวพริบเป็นเลิศ สามารถจับความผิดปกติได้เร็ว รักครอบครัวยิ่ง พร้อมที่จะยินยอมเสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น

ผมว่า Hitchcock คิดถูกนะที่ไม่เลือก Cary Grant, Farley Granger หรือ Sean Connery (ตอนนั้นยังไม่ดังเท่าไหร่ แต่ได้ปรากฎตัวในหนังเรื่องถัดมา Marnie) เพราะ Taylor ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรนอกจากความหล่อเท่ห์ที่กระชากใจสาวๆ ซึ่งการเป็นตัวละครศูนย์กลางที่รายล้อมรอบด้วยหญิงสาว แค่หล่ออย่างเดียวก็เกิดพอแล้ว

Jessica Tandy (1909 – 1994) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ หนึ่งใน Triple Crown of Acting (คว้ารางวัลการแสดงจากสามถาบัน Oscar, Tony, Emmy) เกิดที่ Hackney, London พออายุ 18 เป็นนักแสดงละครเวทีที่สามารถประกบเข้าคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud ได้อย่างยิ่งใหญ่ หลังจากการแต่งงานครั้งแรกกับ Jack Hawkins ล้มเหลว เดินทางสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก The Seventh Cross (1944) แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เลยมักได้รับบทเป็นตัวประกอบอยู่เรื่อยๆ

ผลงานที่คว้ารางวัลของ Tandy ประกอบด้วย
– Tony Award: Best Actress เรื่อง A Streetcar Named Desire (1947), The Gin Game (1977), Foxfire (1982)
– Emmy Award: Outstanding Lead Actess จากเรื่อง Foxfire (1987)
– Academy Award/Golden Globe: Best Actress จากเรื่อง Driving Miss Daisy (1989) ** เป็นเจ้าของสถิตินักแสดงอายุมากสุดที่คว้ารางวัล

รับบท Lydia Brenner แม่ขี้หวงของ Mitch ภายนอกทำตัวเข้มแข็ง ทะนงตน แต่ภายในอ่อนไหว อ่อนแอ เพราะสามีด่วนจากไปทำให้เสียที่พึ่งพิง เหลือเพียงลูกชายคนโตที่พึ่งพาได้ แต่กลับพาหญิงสาวมา ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเสียเขาไป แต่ภายหลังก็สามารถยินยอมรับ Melanie เพราะเห็นเธอเหมือนกับตนเองเมื่อวัยสาวเสียเหลือเกิน

การแสดงของ Tandy ช่างทรงพลังเหลือเกิน โดยเฉพาะท่าทาง การกระทำของมือ น้ำเสียงคำพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายตา เราจะเห็นทั้งมุมเข้มแข็งและอ่อนแอของตัวละคร ที่พร้อมให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ ไม่ต้องบอกคงรู้ได้ นี่คือตัวละครที่แทนด้วยแม่ของ Alfred Hitchcock เองเลย

สำหรับหญิงสาวอีกสองคนในหนัง ประกอบด้วย
Suzanne Pleshette (1937 – 2008) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Brooklyn Heights, New York City ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจากรัสเซียและ Austria-Hungary เข้าเรียนที่ High School of Performing Arts ตามด้วย Neighborhood Playhouse School of the Theatre ภายใต้อาจารย์ Sanford Meisner, รับบท Annie Hayworth หญิงสาวคนรักเก่าของ Mitch ถึงแม้ไม่ได้รับรักตอบคืนมา แต่ตัดสินใจเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ขอเพียงได้อยู่ใกล้ๆระยะสายตา แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับหัวใจ, ถึงปากจะพูดว่าไม่คิดอะไรมาก แต่ก็มีความอิจฉา Melanie อยู่พอสมควร ผลลัพท์จึงคือ…

Veronica Cartwright (เกิดปี 1949) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bristol เติบโตขึ้นที่ Los Angeles เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงเด็กเรื่อง The Children’s Hour (1961) ผลงานเด่น อาทิ Invasion of the Body Snatchers (1978), Alien (1979) ฯ, รับบท Cathy Brenner น้องสาวคนเล็กของ Mitch มีความต้องการนก Lovebirds (ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน) พบเจอตกหลุมรักแรกพบกับ Melanie มองเธอเหมือนพี่สาว ส่งเสริมให้พวกเขาตกหลุมรักกัน

สำหรับพระเอกของหนัง ‘นก’ เท่าที่ผมสังเกตเห็นจะมีนกนางนวล (สีขาว), อีกา (สีดำ), นกเลิฟเบิร์ด (สีเขียว), นกขมิ้น (สีเหลือง) ฯ ทั้งหมด 3,200 ตัวฝึกไว้ใช้ในหนัง, Hitchcock บอกว่า อีกาเป็นนกฉลาดสอนง่าย ขณะที่นกนางนวลมีความเกรี้ยวกราดดุร้ายกว่ามาก

ถ่ายภาพโดย Robert Burks (1909 – 1968) หนึ่งในขาประจำของ Hitchcock เริ่มจาก Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964) [เว้น Psycho เรื่องเดียว] คว้า Oscar: Best Cinematography, Color จากเรื่อง To Catch a Thief (1955)

ความท้าทายของหนังเรื่องนี้ คือทำอย่างไรให้งานภาพออกมามีความแนบเนียนลงตัว เพราะคงไม่สามารถควบคุมนกทุกตัวให้เคลื่อนไหวได้ดั่งใจแน่ (แต่ก็มีการเทรนด์นกปริมาณหนึ่งเพื่อใช้ประกอบฉากด้วยนะครับ) โดดเด่นเรื่องการจัดแสง ซ้อนภาพ และการนำ Special Effect มาประกอบรวมๆกันให้ได้ใน 1 ช็อต

อย่างช็อตนี้ ภาพมุมสูง Bird Eye View ที่เราจะได้เห็นเป็นสายตาของนกจริงๆ นี่ไม่ใช่การถ่ายภาพทางอากาศนะครับ เป็นการซ้อนภาพที่มีหลายชั้นทีเดียว

ไปเจอภาพถ่ายขาว-ดำ ที่เป็น Matte Painting ภาพวาด Bodega Bay ในมุมสูง ส่วนที่เห็นพื้นที่ดำๆ จะถูกนำไปซ้อนด้วยภาพอื่นอีกที

เกร็ด: ภาพนกบินที่แทรกเข้าไปในช็อตนี้ Hitchcock บอกว่าเป็นนกจริงๆนะครับ ถ่ายตอนมันบินโฉบลงมากินอาหารที่พื้น

“We went out to a cliff and threw a lot of garbage off it, and pointed our camera straight down to catch the gulls swooping down for it. … It used to enrage me when people suggested those were mechanical birds.”

สำหรับนกที่เราเห็นๆอยู่นั้น บางทีมาจากการซ้อนภาพกับอนิเมชั่นของ Ub Iwerks นักอนิเมเตอร์/Technician สังกัด Walt Disney Studio ใช้เทคนิคที่ชื่อว่า SV Process (Sodium Vapor) หรือ Yellow Screen วิธีการก็คล้ายกับ Blue Screen แต่เปลี่ยนพื้นหลังที่ใช้ถ่ายทำเป็นฉากสีขาว ฉายด้วยไฟ Sodium Vapor ซึ่งจะออกสีเหลืองๆ มีความอ่อนไหว (Sensitive) เมื่อมีการล้างฟีล์มออกมา สามารถนำไปซ้อนกับ Matte Painting ได้ละเอียดอ่อนกว่า Blue Screen

จะเรียกว่าเป็นเทคนิคทางเลือก สำหรับหนังที่ไม่สามารถใช้ Blue Screen ก็ยังได้ ซึ่ง Disney โด่งดังมากทีเดียวกับเทคนิคนี้ตอนสร้าง Mary Poppins (1964)

โดดเด่นที่สุดและกลายเป็นตำนาน คือช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นส่วนผสมของภาพรถเคลื่อนไหว, นกจริงๆ, หุ่นนก, ภาพวาดอนิเมชั่น พื้นหลังเป็น Matte Painting เห็นว่ามีการซ้อนภาพทั้งหมด 32 ชั้น Hitchcock เรียกว่า ‘the most difficult single shot I’ve ever done.’

เกร็ด: Hitchcock ปรากฏตัว Cameo ตั้งแต่นาทีแรกๆของหนัง ขณะนางเอกเดินสวนเข้าไปในร้าน Pet Shop เห็นว่าเป็นสุนัขเลี้ยงของผู้กำกับเอง พันธุ์ Terriers ชื่อ Geoffrey กับ Stanley, นี่คงเป็นการล้อกับพล็อต Lovebirds ที่อยู่เป็นคู่ๆของหนัง (ตัวประกอบสองคนที่ยืนอยู่ ก็เป็นคู่เช่นเดียวกัน)

ตัดต่อโดย George Tomasini ขาประจำของ Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964) ผลงานเด่น อาทิ Stalag 17 (1953), Cape Fear (1962) ฯ เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Edited เพียงครั้งเดียวจากเรื่อง North by Northwest (1959) แต่กลายเป็นตำนานจาก Psycho (1960)

หนังใช้มุมมองของ Melanie Daniels ในการเล่าเรื่องทั้งหมดจากสิ่งที่พบเจอมากับตัวเอง หลายครั้งด้วยเทคนิค Montage ตัดสลับภาพสิ่งที่เธอเห็น กับ Close-Up ใบหน้า แสดงสีหน้าปฏิกิริยาความรู้สึกออกมา

ด้วยลีลาการตัดต่อคล้ายกับ Psycho (1960) เราจะไม่เห็นช็อตที่น่าขยะแขยงแบบตรงๆอย่าง นกรุมทึ้ง จิกกัดกระชากเนื้อจนเลือดไหล แต่จะมีช็อตที่เห็นถูกงับๆ พอตัดมาอีกทีเลือดก็จะไหลเป็นทางแล้ว

หนังไม่มีเพลงประกอบ แต่ใช้เสียงนกร้อง กระพือปีก เป็น Sound Effect ที่สร้างความสมจริงให้กับหนัง, ซึ่งเสียงนกที่เราได้ยินนี้ ไม่ใช่ทั้งเสียงอีกาหรือนกนางนวล แต่มาจากเครื่อง Mixtur-Trautonium ที่วิวัฒนาการมาจากเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) ออกแบบโดยนักฟิสิกส์สัญชาติเยอรมัน Friedrich Trautwein เมื่อปี 1929 ได้รับการพัฒนาต่อยอดโดย Oskar Sala ซึ่งรายหลังก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ร่วมกับ Remi Glassmann ช่วยสร้างสรรค์เสียง Sound Design ให้กับหนังด้วยนะครับ

เกร็ด: จริงๆ Hitchcock ได้ติดต่อขาประจำ Bernard Herrmann ให้ทำเพลงประกอบให้ ซึ่งพี่แกได้เกิดความคิดพิศดาร ชักชวนพากันไปหา Oskar Sala กับ Remi Glassmann ที่ Berlin เพื่อแนะนำให้รู้จักและจะได้ร่วมงานกัน

สำหรับบทเพลงที่ Melanie เล่นเปียโนคือ Arabesque no. 1 in E ผลงานเดี่ยวเปียโนในยุคแรกๆของคีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส Claude Debussy (1862 – 1918) ประมาณการช่วงแต่งปี 1888-1891 มีลักษณะของ Impressionist ตามยุคสมัยแฟชั่นของฝรั่งเศสขณะนั้น บทเพลงมีความลื่นไหลล่องลอยไป คล้ายกับรูปลักษณะของธรรมชาติ สายลมพริ้วไหว สายน้ำไหลเอื่อย

“that was the age of the ‘wonderful arabesque’ when music was subject to the laws of beauty inscribed in the movements of Nature herself.”

นี่ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ Hitchcock ใช้นกเป็นสิ่งสัญลักษณ์ -ใน Psycho (1960) ห้องของ Norman Bates เต็มไปด้วยสัตว์สต๊าฟโดยเฉพาะนก- ทั้งๆที่โดยปกติเป็นสัตว์รักสงบ โบยบินอย่างอิสระเสรีบนท้องฟ้า ไม่ชอบสร้างความรำคาญให้ใคร (นอกจากขี้ใส่หัว) แต่ถ้ามนุษย์ไปก่อกวนขับไล่เข่นฆ่าหรือวางยา มันถึงจะแสดงปฏิกิริยาเกรี้ยวกราดตอบโต้ทำร้าย (แต่ผมว่าส่วนใหญ่มันก็บินหนีไปนะ ไม่ค่อยเห็นนกตัวไหนมันอาฆาตมาดร้ายมนุษย์เท่าไหร่)
– กรงเล็บใช้เกาะเกี่ยว กรีดกราย สร้างรอยแผลภายนอกมากมาย
– ปีกกระพือโบยบินโฉบเฉี่ยว สร้างเสียงดังระทึกให้เกิดความสับสนอลม่าน
– จงอยปากใช้จิกกัดกร่อนกิน แทะเล็มเป็นชิ้นเล็กๆจะได้กลืนเข้าปากง่ายๆ

ซึ่งเป้าหมายของนก/ฝูงนก ในหนังเรื่องนี้ เหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ Melanie Daniels เป็นสำคัญ ราวกับว่าเธอไปทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ถึงถูกกระทำร้ายขนาดนี้/สาปแช่ง/ฟ้าดินลงทัณฑ์ ได้ขนาดนี้, วิธีการครุ่นคิดทำความเข้าใจ คือสังเกตจากเรื่องราวบริบทรอบข้าง หญิงสาวได้พบเจออะไรใครบ้าง แต่ละคนมีปฏิกิริยาแสดงออกเป็นเช่นไร และการโจมตีของนก มีความสัมพันธ์อะไรกับเรื่องราว

แรกสุดเลยในร้านขายนก, นกขมิ้นตัวหนึ่งหลุดออกจากกรง Melanie วุ่นวายใหญ่แต่ไม่สามารถจับได้ Mitch มานิ่งๆใช้หมวกวางทับจับอยู่ เราสามารถเปรียบปฏิกิริยาของนกตัวนี้สะท้อนกับจิตใจของหญิงสาว ตื่นเต้น รักสนุก โหยหาอิสระ ถูกจับโดยชายหนุ่มที่แทบไม่ได้ใช้เทคนิคท่าทางลีลามาก แต่หาจังหวะเหมาะสม แค่นี้ก็ได้ครอบครองเป็นเจ้าของแล้ว

ขณะ Melanie กำลังล่องเรือกลับ Mitch ที่ได้ส่องกล้องเห็นแล้วรีบบึ่งรถไปรอท่าเรือข้ามฝากให้หญิงสาวเข้ามาเทียบ การจู่โจมตีของนกนางนวลถือว่าเข้ามาขัดจังหวะการพบกันของทั้งสอง (เหมือนกำลังมี Sex อยู่แล้วถูกขัดจังหวะ) ทำให้ต้องรีบพาไปปฐมพยาบาลในร้าน ที่นั่นทำให้หญิงสาวพบกับแม่ Lydia เป็นครั้งแรก ที่มีสีหน้าปฏิกิริยาไม่ค่อยพึงพอใจนัก แต่ Mitch ก็กล้องเอ่ยปากชักชวนเธอไปกินข้าวที่บ้าน สร้างความคับข้องใจให้กับแม่อย่างมาก

อาหารเย็นที่บ้านของ Mitch ดำเนินไปด้วยบรรยากาศมาคุ แม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ค่อยประทับใจ Melanie เสียเท่าไหร่ ขณะที่น้องสาว Cathy กลับหลงรักชักชวนให้มางานเลี้ยงวันเกิดพรุ่งนี้, ข้างนอกบ้านขณะ Melanie เดินทางกลับ บริเวณเสาสายไฟฟ้าเต็มไปด้วยฝูงอีกาเกาะเต็มไปหมด มันไม่ได้จะจู่โจมตีใคร แต่คล้ายกับบรรยากาศมาคุในช่วงรับประทานอาหารเย็น

เกร็ด: มาคุ เป็นคำภาษาญี่ปุ่น(ที่วัยรุ่นไทยชอบใช้กัน) แปลว่า อึมครึม บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความอึดอัด

งานเลี้ยงวันเกิดของ Cathy สังเกตจากสายตาของ Lydia จ้องมองอย่างอิจฉาริษยา (เพราะทั้งคู่แอบไปจู๋จี๋ลับสายตาผู้ใหญ่) เมื่อนั้นนกนางนวลตัวแรกจึงเริ่มเปิดฉากโจมตี เด็กๆวิ่งหนี ผู้ใหญ่วิ่งไล่,

หลังจากส่งเด็กๆกลับบ้าน เย็นวันนั้นตามแผนเดิมคือ Melanie ขับรถกลับ San Francisco แต่หลังจากพูดคุยสนทนาไปเรื่อยๆ มีแนวโน้มสูงที่เธอจะอยู่ค้าง จากสีหน้าชื้นใจของแม่ แปรสภาพเป็นขุ่นเคืองรุนแรง ราวกับว่าตัวเองกำลังถูกรุกรานจากคนนอก เมื่อนั้นฝูงนกจู่โจมตีอีกครั้ง คราวนี้บุกเข้ามาในบ้านทางป่องไฟ โดยไม่ได้รับอนุญาติ โชคดีสามารถปิดกั้น และสักพักฝูงนกก็บินหาทางออกหายไปได้เอง

เช้าวันถัดมา Lydia ได้พบเจอใครคนหนึ่งที่ถูกนกรุมทึ้ง ทำให้หวนระลึกถึงตัวเองที่สามีจากไป -ราวกับว่าเพราะตัวเธอที่ทำให้เขาต้องเสียชีวิต- เกิดความอ่อนข้อให้กับหญิงสาว ยินยอมรับเธอเข้ามาในชีวิต แต่ขณะนั้นก็ระลึกได้ เป็นห่วงเด็กๆที่โรงเรียน เวลาผ่านไปยิ่งทวีความวิตกจริต, Melanie เดินทางไปถึงโรงเรียน เห็นอีกาค่อยๆมาเกาะทีละตัวสองตัวจนเต็มสนามเด็กเล่น ช่วงแรกๆก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอมากเข้าก็สร้างความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวให้กับทุกคน จนสุดท้ายต่างต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด

ที่บาร์แห่งหนึ่งในเมือง สถานที่แห่งการพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น บ้างเชื่อ บ้างไม่เชื่อ บ้างอุปโหลก เพ้อ จินตนาการ สุดท้ายก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งเมื่อฝูงนกเริ่มบุกจู่โจมตี (ฉากนี้คล้ายกับ The Mist มากๆ), ทั้งๆที่ภายนอกโคตรอันตราย แต่หญิงสาวใจกล้ากลับบ้าวิ่งไปติดอยู่ในตู้โทรศัพท์ ติดต่อใครก็ไม่ได้ แถมกลับออกมาไม่ได้อีก หวาดหวั่นสะพรึงกลัว ต้องรอให้พระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยเท่านั้น ก่อนจะถูกตราหน้าว่า

“I think you’re the cause of all this.
I think you’re evil! Evil!”

ฉากไคลน์แม็กซ์ หลังจากที่ Mitch ปิดประตูหน้าต่าง เอาไม้อุดช่องว่าง กั้นขวางไม่ให้ฝูงนกบุกเข้ามาด้านใน แต่แม่กลับเกิดความหวาดกลัว เสียสติแตก วิตกจริตกลัวว่าจะสูญเสียลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้ไป, ฝูงนกจึงพยายามที่จะบุกเข้ามาภายใน ดิ้นรนแทรกตัว ต้องเอาไม้มากั้นดันซ่อม ปกปิดจุดบกพร่องทั้งหลาย จนกว่าทุกคนจะสงบจิตสงบใจได้ ทุกอย่างถึงค่อยยุติลง

แต่แล้ว Melanie ก็เดินย่องขึ้นไปห้องข้างบนอย่างไร้เหตุผล ค้นพบว่ามีห้องหนึ่งที่เพดานทะลุ สะดุ้งตกใจกลัว ทำให้ถูกฝูงนกกรูเข้ามารุมทำร้ายเธอ หญิงสาวพยายามที่ดิ้นรนกลับเข้าไปในบ้านแต่ไม่สามารถทำได้ เกือบปางตายก่อนที่ Mitch จะฉุดดึงเธอเข้ามา, ผมมองว่าฉากนี้เป็นการตบหัวลูบหลังของ Hitchcock ทั้งๆที่เหตุการณ์ควรสงบลงแล้ว แต่เพื่อเป็นการยอกย้อนสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Lydia สักวันต้องหวนกลับมาเกิดกับ Melanie มันคือความโง่เง่าของเธอเอง ถ้าไม่เดินขึ้นด้านบนพบเจอหรือสะดุ้งตกใจ ความเฉียดตายครั้งนี้คงไม่เกิด

สำหรับช็อตจบ เมื่อความเครียด วิตกจริต คลี่คลายบรรเทาลง ฝูงนกทั้งหลายก็จึงสงบนิ่งไม่ไหวติง ปล่อยให้พวกเขาออกจากบ้าน ออกเดินทาง สู่รุ่งอรุณสำหรับเริ่มต้นเช้าวันใหม่

สรุปแล้ว ‘นก’ ในหนังเรื่องนี้มีนัยยะถึงอะไร? ผมคิดว่ามันไม่มีความหมายตายตัวของสิ่งสัญลักษณ์นี้นะครับ คือเป็นได้ทั้งตัวแทนความรู้สึก, ความต้องการ, ความหวาดกลัว, หายนะทางธรรมชาติ ฯ หรือไม่มองว่า นกก็คือนก หาได้จำเป็นต้องครุ่นคิดวิเคราะห์ให้เสียเวลาเปลืองรอยหยักของสมอง

จากที่ผมวิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ เราสามารถมองใจความของหนังได้ว่า คือการเปรียบเทียบ/สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘ธรรมชาติ’ ในเชิงด้านมืด อารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ในจิตใจมนุษย์ สะท้อนกับปฏิกิริยาการโต้ตอบของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (ในที่นี้ก็คือ นก นั่นเอง)

หนังเรื่องนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์ Horror: มนุษย์ vs ธรรมชาติ/สัตว์/สิ่งมีชีวิตอื่น อาทิ Jaws (1975), Alien (1979), Deep Blue Sea (1999) ฯ

Hitchcock สร้างหนังเรื่องนี้เพื่ออะไร? นี่เป็นคำถามที่ฟังดูน่าครุ่นคิดกว่ามาก เมื่อสังเกตจากการโจมตีของนกที่พุ่งเป้าไปที่หญิงสาว และปฏิกิริยาพฤติกรรมของแม่ที่แสดงออกมา ดังที่ผมวิเคราะห์บอกไปตั้งแต่ต้น Lydia เป็นตัวแทนของ Emma Jane Hitchcock แม่ของผู้กำกับ ที่มีความเข้มงวดจริงจังกับลูกชายคนนี้เสียเหลือเกิน (พ่อเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปี) นี่ไม่เชิงเป็นชีวประวัติ แต่เป็น Expression การแสดงปฏิกิริยาความรู้สึกของ Hitchcock ที่มีกับแม่ต่อแฟนสาวที่กลายเป็นภรรยา Alma Reville ตั้งแต่ตอนที่พบเจอกันแรกๆ คงมีความไม่ชอบคอ –> ครั้งถัดมาค่อยๆแปรสภาพเป็นอิจฉาริษยา –> เมื่อเริ่มทำใจยอมรับได้ก็เกิดความหวาดกลัวที่จะสูญเสียลูกชายสุดที่รักไป แล้วใครจะเป็นที่พึ่งพาให้กับฉันต่อไปอีกเล่า

ด้วยทุนสร้าง $3.3 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ในอเมริกา $11.4 ล้านเหรียญ ค่อนข้างประสบความสำเร็จทีเดียวแม้เสียงตอบรับ คำวิจารณ์ตอนฉายจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ จึงเข้าชิง Oscar เพียง 1 สาขา Best Special Effects พ่ายแพ้ให้กับ Cleopatra (1963)

แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า นี่เป็นหนังที่มีความยิ่งใหญ่ ลึกล้ำ ซับซ้อนด้วย Special Effect ที่ไม่ใช่แค่ฉาบหน้า แต่มีความพิศวงจากการค้นหาคำตอบของปริศนาปลายเปิด การตีความตอนจบที่ไม่มีข้อความ The End ปรากฎขึ้นนี้ ทิ้งความท้าทายให้กับผู้ชม ประหนึ่งว่าความน่าสะพรึงกลัวนี้ยังไม่ถึงกาลจบสิ้น (เป็นแค่จุดเริ่มต้นของอะไรบางอย่าง)

เกร็ด: ผู้กำกับ Akira Kurosawa เลือกให้ The Bird เป็นหนังเรื่องชอบที่สุดของผู้กำกับ Alfred Hitchcock

มีความพยายามที่จะสร้างภาคต่อ The Birds II: Land’s End (1994) ออกฉายโทรทัศน์ ได้รับเสียงตอบรับล้นหลามในแง่ลบ ถึงขนาดผู้กำกับ Rick Rosenthal ต้องเปลี่ยนมาใช้เครดิตนามปากกา Alan Smithee เพื่อไม่ให้ถูกยี้ไปกว่านี้,

ขณะที่ผู้กำกับ Michael Bay เคยคิดอยากสร้างใหม่ remake มอบหมายให้ Martin Campbell เป็นผู้กำกับ นำแสดงโดย Naomi Watts แต่สุดท้ายโปรเจคก็คว้าน้ำเหลว, ดีแล้วละครับที่ไม่สร้าง เพราะคงมีชะตากรรมไม่ต่างกับ Psycho (1998) ของผู้กำกับ Gus Van Sant เสียเท่าไหร่

ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับชม เพราะบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัว ตอนที่นางเอกถูกนกนางนวลโจมตีครั้งแรก จำได้ว่าสะดุ้งโหยงเลยละ เกิดอะไรขึ้นว่ะเนี่ย! ดูจนจบก็ไม่เข้าใจ คิดไปว่าเพราะเจ้า Lovebirds นี่แหละน่าจะเป็นตัวการชักนำเรียกนกตัวอื่นๆมา, รับชมครั้งนี้หลงรักยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะครุ่นคิดจนได้รับคำตอบอันน่าพึงพอใจอย่างยิ่งแล้ว แม้ไม่สะดุ้งสะพรึงเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ประทับใจล้นหลามใน Special Effect กับข้อจำกัดสมัยนั้นน่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คงเป็นผลงานโคตรท้าทาย ใช้เวลายาวนาน สร้างยากที่สุด ในบรรดาหนังของ Alfred Hitchcock แล้วละ

แนะนำกับคอหนัง Horror, Thriller, Suspense, ตื่นเต้นลุ้นระทึกน่าสะพรึงกลัว, แนวเรื่องราวเหนือธรรมชาติ, นักสร้าง Special Effect ทั้งหลาย ศึกษาทำความเข้าใจ, นักดูนกทั้งหลาย, แฟนๆผู้กำกับ Alfred Hitchcock นักแสดง Tippi Hedren, Rod Taylor, Jessica Tandy ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความน่าสะพรึงกลัวของฝูงนก ที่อาจส่งเสียงกรี๊ดกร๊าด ตกอกตกใจให้กับเด็กๆและวัยรุ่นได้

TAGLINE | “The Birds โบยบินเข้าสู่กรงทองของ Alfred Hitchcock ที่จะทำให้คุณหวาดหวั่นสะพรึงกลัว ด้วย Special Effect สุดอลังการระดับ Masterpiece”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: