The Triplets of Belleville (2003)
: Sylvain Chomet ♥♥♥♥♡
กาลเวลาทำให้มุมมองต่อโลกของมนุษย์เปลี่ยนไป จากอดีตเคยหรรษาสุขสันต์ ปัจจุบันบวมบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง เป็นวิวัฒนาการที่ต่อให้ซิ่งจักรยานเร็วแค่ไหนก็ยังติดตามแทบไม่ทัน แถมใครมัวเชื่องช้าล้าหลังหมดเรี่ยวแรง จักถูกฉุดคร่าลักพาสู่มุมมืดมิดของโลก ซึ่งถ้าจะเอาตัวรอดจากนรกขุมนี้ ต้องรีบเร่งปั่นขึ้นเนินเขา ประสบความสำเร็จถึงจุดสูงสุดเมื่อไหร่ก็ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัว
Les Triplettes de Belleville คงเป็นอนิเมชั่นที่ทำให้หลายคนเกาหัว มันบ้าบอคอแตกอะไรไม่เห็นเข้าใจเลยว่ะ! แต่แปลกที่ถึงดูไม่รู้เรื่องส่วนใหญ่กลับยังอดรนทนจนจบ เพราะความใคร่อยากรู้ลุ้นระทึก คุณยายจะสามารถช่วยเหลือหลานชายที่ถูกลักพาตัวได้สำเร็จหรือเปล่า
ผมใช้เวลาพักใหญ่ๆในการครุ่นคิดค้นหาใจความสำคัญ ก็ค้นพบว่าทุกสิ่งอย่างถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด ด้วยการเสียดสีล้อเลียนประชดประชัด อาทิเช่น
– การปั่นจักรยาน แทนได้ด้วยการทำงาน/ต่อสู้ชีวิต แข่งขันขึ้นเขาเพื่อไขว่คว้าหาความสำเร็จ, สังเกตกล้ามเนื้อน่องขาของชายหนุ่ม Champion มีขนาดใหญ่โตผิดปกติ แม้มีความแข็งแกร่งทนทางสมรรถภาพสูง แต่ดูอัปลักษณ์พิศดารสิ้นดี นี่เป็นการเสียดสีล้อเลียนบุคคลผู้หมกมุ่นในบางสิ่งเพียงอย่างเดียว ไม่ใคร่สนใจคิดทำอะไรอย่างอื่น
– เจ้าหมา Bruno เกลียดรถไฟเข้ากระดูกดำ (เพราะมันเคยถูกรถไฟของเล่นเหยียบหาง เลยจดจำฝังใจ) วันๆไม่ทำอะไรนอกจากกิน นอน เห่าหอน จนร่างกายอ้วนท้วนเทอะทะ เปรียบเทียบได้กับมนุษย์ชนชั้นล่าง/กรรมกรแรงงาน ดั่งลิ่วล้อเรือพาย มักถูกล่อลวงหลอกให้ใช้กำลังกายสนองผู้มีสติปัญญาสูงกว่า
– Madame Souza คุณยายผู้มีความปรารถนาดีต่อหลาน พยายามผลักดันให้พบเจอความต้องการใฝ่ฝัน แต่เธอกลับถือนกหวีดเป่าปี๊ดๆคอยผลักดันเร่งเร้าอยู่ด้านหลัง, นี่เป็นการสะท้อนความทะเยอทะยานของคนรุ่นก่อน อยากให้ลูกหลานเติบโตได้ดีเป็นที่หนึ่ง ก็ใช้การจับมือชี้นิ้วออกคำสั่ง ด้วยความเข้มงวดกวดขัน จนชีวิตของ Champion เต็มไปด้วยระเบียบแบบแผน ไร้ซึ่งอิสระเสรีใดๆ
– อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ กลายเป็นหญิงร่างท้วมใหญ่ จากคบไฟกลายเป็นโคนไอศกรีมของหวาน ผู้คนบนท้องถนนก็ต่างต้วมเตี้ยมตุ้ยนุ้ย นี่คือการเสียดสีล้อเลียนถึงความอิ่มหมีพลีมันในอิสรภาพของชาวอเมริกัน อยาก(โกง)กินทำอะไรก็ได้มีความเสรี
ฯลฯ
เบื้องต้นเรียกน้ำย่อยเท่านี้ก่อนแล้วกัน ถ้าคุณอยากทำความเข้าใจ The Triplets of Belleville จำเป็นต้องใช้การสังเกตเปรียบเทียบความบิดเบี้ยวพิศดารกับสิ่งที่มันควรเป็นจริงๆ ครุ่นคิดหาเหตุผลทำไมถึงแตกต่าง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ และนัยยะความหมายของมันคืออะไร ก็อาจค้นพบเนื้อหาสาระใจความสำคัญ
ใบ้ให้สักนิดก่อนแล้วกันสำหรับใจความสำคัญที่ผมครุ่นคิดได้ สะท้อนกึกก้องอยู่ในฉากสามสาวแก่ The Triplets of Belleville หลังโยนระเบิดลงหนองน้ำ กบจำนวนมากกระโดดลอยขึ้นมาตกตายใส่ตาข่าย แต่มีตัวหนึ่งยังรอด พยายามดิ้นรนตะเกียกตะกายเพื่อที่จะ …
Sylvain Chomet นักเขียนการ์ตูน และผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศส, เกิดที่ Maisons-Laffitte, Yvelines ชื่นชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็ก เรียนจบย้ายไป London ทำงานเป็นอนิเมเตอร์ให้กับ Richard Purdum Studio รับงาน freelance ทำโฆษณาให้กับบริษัทดังอย่าง Principality, Renault, Swinton, Swissair ฯ ปี 1993 ระหว่างหาทุนสร้างอนิเมชั้นเรื่องแรกของตนเอง เดินทางสู่ Toronto, Canada ร่วมทำงานสาขาย่อยของ Walt Disney Studio ที่ขณะนั้นกำลังง่วนกับ Hercules (1997) และได้ค้นพบความจริงบางประการ
“The atmosphere was bizarre. They had such a cynical way of thinking. They have this mentality they’re trying to do ‘product’ — they don’t make films anymore, it’s like they do advertisements now. People are very talented there but there’s no soul”.
เก็บเอาความหงุดหงิดคับข้องใจนั้นเป็นบทเรียน เพื่อตนเองจะไม่สร้างอนิเมชั่นที่มีลักษณะการทำงานรูปแบบนั้น กลายมาเป็นผลงานเรื่องสั้นแรก The Old Lady and the Pigeons (La Vieille Dame et les pigeons) เสร็จปี 1997 ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Short Film
ฝรั่งเศสแม้เป็นประเทศแห่งงานศิลปะ/ภาพยนตร์ แต่สำหรับวงการอนิเมชั่นกลับไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ สาเหตุเพราะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง และทัศนคติของผู้ชม (คล้ายๆเมืองไทย) อนิเมะเหมาะสมกับเด็กเท่านั้น แต่หลังจากความสำเร็จอันล้นหลามเรื่อง Kirikou and the Sorceress (1998) ของผู้กำกับ Michel Ocelot เปิดโลกทัศน์ใหม่ของเหล่าโปรดิวเซอร์ เรียนรู้จัก/ค้นพบวิธีการใหม่ในการหาเงิน ร่วมทุนสร้างจากหลายประเทศ (ที่อนิเมชั่นได้รับความนิยมมากกว่าฝรั่งเศส) นี่กลายเป็นกระแสนิยมและเปิดโอกาสให้ Chomet เดินตามรอยสร้างอนิเมะขนาดยาวเรื่องแรกนี้ ร่วมกับสตูดิโอจากฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, เบลเยี่ยม และแคนาดา แต่ก็ใช้เวลายาวนานถึง 5 ปีกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้น
สำหรับเรื่องราวของ The Triplets of Belleville ถือว่าจากประสบการณ์ตรงของผู้กำกับ Chomet สะท้อนทัศนคติมุมมองต่อสิ่งที่ตนเองเคยหลงใหลคลั่งไคล้ในอดีตทศวรรษ 30s (อาทิ ดนตรี Swing Jazz, Josephine Baker, Django Reinhardt, Fred Astaire, Charlie Chaplin, Buster Keaton ฯ) แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนเลยเปลี่ยนผ่าน หลังสงครามโลกครั้งที่สองกลางทศวรรษ 60s ในดินแดนเสรีอเมริกา (เหมารวมถึงแคนาดาที่ผู้กำกับเคยอาศัยอยู่) ทุกสิ่งอย่างพัฒนาจนสูงใหญ่โตเสียดฟ้า จิตใจของผู้คนกลับบูดบวมบิดเบี้ยว ตกต่ำเลวทรามลงถึงขีดสุด
เรื่องราวเริ่มต้นที่การแสดงโชว์ ร้องเล่นเต้นของ The Triplets of Belleville สามสาวแห่งยุค Swing Jazz ร่วมกับนักแสดงร่วมสมัยมีชื่ออื่นๆ Josephine Baker, Django Reinhardt, Fred Astaire ฯ
ซูมออกจากโทรทัศน์ขาว-ดำ พื้นหลังประมาณทศวรรษ 30s เรื่องราวของ Madame Souza อาศัยอยู่กับหลานชาย Champion พบเห็นสีหน้าบึ้งตึงละเหี่ยใจไม่มีความสุขในชีวิตสักเท่าไหร่ คาดว่าเพราะพ่อ-แม่ คงเสียชีวิตพลันด่วนจากไป เธอจึงพยายามเข้าหาความสนใจ ประกอบด้วยสอนเล่นเปียโน, มอบลูกสุนัขชื่อ Bruno, ซื้อของเล่นรถไฟ จนในที่สุดก็ค้นพบจากสมุดบันทึกและรูปถ่าย (ที่พ่อขี่จักรยานให้แม่ซ้อน) ให้จักรยานคันใหม่เป็นของขวัญ ครั้งแรกครั้งเดียวที่พบเห็นรอยยิ้มร่าของเด็กชาย
เรื่องราวกระโดดไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงกลางทศวรรษ 60s เมื่อฝรั่งเศสมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จากเคยเป็นทุ่งหญ้าเกษตรกรรมมองเห็นหอไอเฟลลิบๆ กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีรถไฟเคลื่อนตัดผ่านสูงระดับหลังคาบ้าน, ชายหนุ่ม Champion ทุ่มเทกายใจเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน Tour de France แต่กลับท้อแท้หมดอาลัยกลางทางไปไม่ถึงยอดเขา ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มมาเฟีย ส่งขึ้นเรือเดินสมุทรข้าม Atlantic มุ่งสู่เมืองสมมติ Belleville (หรือคือประเทศอเมริกา)
Souza และเจ้าหมาอ้วน Bruno ออกติดตามมาจนถึงเมือง Belleville พบเจอสามสาวแก่ The Triplets of Belleville ที่ยังคงหลงใหลในเสียงดนตรี ให้ความช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน สถานที่ซุกหัวนอน ติดตามค้นหา Champion พบเจอตัวแล้วยังร่วมหาวิธีหลบหนี เอาตัวรอดจากกลุ่มมาเฟียจอมโหด
จบลงด้วย Flashforward สู่อนาคตวัยแก่ของ Champion กำลังหวนระลึกนึกถึงการผจญภัยครั้งนั้น ได้ยินเสียงแว่วของคุณยาย Souza และเจ้าหมา Bruno ที่ต่างคงรอคอยเขาอยู่บนสรวงสวรรค์สุขสบาย
ไดเรคชั่นการออกแบบตัวละคร/ฉาก เน้นให้มีความเว่อวังอลังการ แปลกประหลาดพิศดารเข้าไว้ เพื่อเป็นการเสียดสีล้อเลียนในมุมมองของผู้กำกับ Chomet ออกแบบโดย Evgeni Tomov ซึ่งจะมีงานศิลป์คล้ายผลงานของ Nicolas de Crécy (เกิดปี 1966) ศิลปิน นักเขียนการ์ตูนสัญชาติฝรั่งเศส ที่เคยวาดพื้นหลังให้อนิเมะขนาดสั้นเรื่อง The Old Lady and the Pigeons (1997) แต่ครานี้กลับไม่ได้ร่วมงานกับ Chomet เลยเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าถูกคัดลอกเลียนแบบ เลยเลิกคบหาสมาคมนับแต่บัดนั้น
ตัวอย่างผลงานการ์ตูนของ Nicolas de Crécy ถือว่าคล้ายคลึงกับงานศิลป์ของอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมาก
สำหรับการทำอนิเมชั่น ผสมผสานระหว่างวาดมือด้วย Tradition Animation และ Computer Graphic สามมิติ เฉพาะเจาะจงในส่วนอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ที่ไร้ซึ่งชีวิตหรือการเคลื่อนไหว อาทิ จักรยาน, รถยนต์, เรือ ฯ
“If you give a 2D animator something like a car or a bicycle, he is going to go mad and it’s going to be a terrible job for him because there is no life to a bicycle”.
สิ่งหนึ่งที่ Chomet เรียนรู้จากการทำงานยัง Walt Disney Studio คือการทำอนิเมชั่นของตัวละคร ทุกสิ่งอย่างจะมีกำหนดเวลา ‘Timing’ ของการเคลื่อนไหวแสดงสีหน้าอารมณ์อย่างเปะๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกๆท่วงท่าขยับแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถสะท้อนทุกสิ่งอย่างของตัวละครออกมาได้ อาทิ บริกรผู้มีร่างเหมือนนักกายกรรม สามารถโน้มตัวโค้งคำนับได้แทบจะเป็นวงกลม ฯ
และเพราะความต้องการให้อนิเมะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั้วโลก ไม่ต้องพึ่งการพากย์เสียงใหม่บ่อยครั้งนัก เลยเลือกใช้รูปแบบของหนังเงียบ หรือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Jacques Tati ตัวละครไม่พูดคุยสนทนา ที่ได้ยินถือเป็น Sound Effect ประกอบพื้นหลังทั้งหมด ใช้การกระทำเคลื่อนไหวภาษากายสื่อสาร และเพื่อให้สามารถจดจำตัวละครได้ง่าย ออกแบบให้มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะ อาทิ บริกรตัวโค้งมน, บอดี้การ์ดทรงสี่เหลี่ยม ฯ
Sequence ที่ได้รับการยกย่องพูดถึงมากสุด เริ่มต้นกับ Prologue ชุดการแสดงร้อง-เล่น-เต้น ของสามสาววง The Triplets of Belleville ทั้งๆใช้โทนสีขาว-ดำ (แต่ออกน้ำตาล) พบเห็น Noise เส้นบางๆ ให้สัมผัสเหมือนฟีล์มเก่สสมัยก่อน แต่กลับมีชีวิตชีวาสนุกสนานครึกครื้นเครงที่สุดแล้วของอนิเมะ (เพราะคือช่วงเวลาแห่งความทรงจำวัยเด็กของ Madame Souza หลงใหลคลั่งไคล้ชื่นชอบที่สุด)
รถไฟของเล่นที่คุณยายซื้อให้ Champion มองจากมุมสูงพบเห็นต่อเล่นเป็นวงกลม นัยยะดั่งวัฏจักรชีวิตที่หมุนเวียนวน ซึ่งเจ้าสิ่งนี้ได้กลายเป็น Trauma ฝังใจหมาน้อย Bruno เพราะถูกเหยียบหางครั้งเดียวจดจำไปตลอดชีวิต ได้ยินเสียงรถไฟเมื่อไหล่ต้องเห่าหอนแบบมิสามารถอดกลั้นหักห้ามใจได้
รถไฟกับจักรยานในสองช็อตนี้มีความคล้ายคลึง และตรงกันข้ามอย่างประหลาด
– กับรถไฟ ทั้ง Champion และ Bruno ต่างเป็นผู้จับจ้องมองอยู่ด้านนอก (Bruno เข้าไปในวงแล้วถูกเหยียบหาง เห่าลั่น), แต่กับจักรยานเด็กชายกลายเป็นคนถีบปั่น สามารถเคลื่อนหมุนเป็นวงกลมโดยรอบได้เอง ขณะที่ Bruno ถึงจะขับขี่ไม่ได้ก็วิ่งวนหมุนตาม
– รถไฟของเล่น จำกัดอยู่ภายในบ้าน, ขณะที่การขี่จักรยานต้องใช้พื้นที่มาก ออกนอกหน้าบ้าน
– แสงสีเงา จากหลอดไฟ, พระอาทิตย์
– คุณยายอ่านหนังสือพิมพ์เฝ้าแอบมองดู, ภายหลังกำลังถักโครเชต์ เงยหน้ามองได้แบบไม่ต้องหลบซ่อนใดๆ
ช่วงทศวรรษ 30s สภาพบ้านของ Madame Souza ช็อตนี้ยังตั้งตรง สิ่งก่อสร้างยังขึ้นไม่มากนัก กว้างขวางด้วยพื้นที่เกษตรกรรม เห็นหอไอเฟลอยู่ไกลลิบๆเด่นชัดเจน
ประมาณสามทศวรรษผ่านไป อะไรๆเปลี่ยนแปลงจนแทบจดจำไม่ได้ รอบข้างเต็มไปด้วยบ้านคนสิ่งก่อสร้าง รถไฟฟ้ามาจากไหนไม่รู้เธอ ทำให้บ้านของ Madame Souza เอียงกระเท่เร่เหมือนหอเอนเมืองปิซา ท้องฟ้าบรรยากาศมืืดครึ้มน่าสะพรึงกลัว ต้องใช้การสังเกตสักหน่อยถึงค่อยมองเห็นหอไอเฟล
สาเหตุที่บ้านเอียง อธิบายด้วยหลังธรณีศาสตร์คือแรงสั่นสะเทือนของรถไฟ, นัยยะของอนิเมะ คือมิอาจต้านทานกระแสเปลี่ยนไปของโลกได้ (สังเกตว่ามันเอียงหลบรางรถไฟ ไม่ใช่รางรถไฟสร้างหลบบ้าน)
ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน ทำให้ชีวิตต้องมีการปรับเปลี่ยน นี่รวมถึงล้อรถจักรยานจำต้องปรับจูนให้ตรง บิดเบี้ยวโคลงเคลงก็มิอาจใช้งานปั่นขึ้นเนินเขาถึงจุดสูงสุดประสบพบเจอความสำเร็จในชีวิตได้
ความน่าสนใจของการปรับจูนล้อจักรยานนี้ คือใช้โมเดลหอไอเฟลเป็นจุดหมุน (หอไอเฟล คือสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส) นี่สื่อถึงความคาดหวัง ต้องได้รับชัยชนะอันดับ 1 เท่านั้นถึงสมประสงค์
รูปลักษณ์ของ Champion จมูกคางแหลม ชอบยื่นเสนอหน้าเข้าใกล้กล้อง ลำแขน ลำตัวบางลีบ แต่ลำแข้งและน่องเป็นก้อนแข็งใหญ่ วันๆคงไม่ทำอะไรอื่นนอกจากปั่นจักรยาน
ความอัปลักษณ์จนน่าสะพรึงกลัวของตัวละครนี้ เป็นการเสียดสีล้อเลียนมนุษย์ทุกคนในยุคสมัยทุนนิยม ผู้ที่หมกมุ่นโหยหาไขว่คว้าในความสำเร็จ ทุ่มเทกายใจให้กับหน้าที่การงานอย่างหนักหน่วง จนเลิกสนใจด้านอย่างอื่นของชีวิต ดูแล้วคงทำอะไรอย่างอื่นนอกจากปั่นจักรยานไม่เป็นแน่
ในความฝันขาว-ดำของ Bruno มักต้องเกี่ยวกับรถไฟอยู่เสมอ เพราะปกติมันจะได้เพียงเฝ้ามองเห่าหอนอยู่ด้านข้าง แต่ทุกครั้งในห้วงจินตนาการ จะได้ขึ้นโดยสารอยู่บนหัวรถจักร และเป็นเหมือนเจ้านายไม่ใช่ขี้ข้าที่ต้องคอยทำตามคำสั่ง (ครั้งหนึ่งตอนกลางท้าย จินตนาการเห็น Champion เป็นคนปั่นจักรยานให้ตนเองนั่งอย่างพระราชาอยู่เบื้องหลัง)
นี่เป็นการสะท้อนหัวอก จิตใจ ความต้องการของเจ้าหมาอ้วน ที่เปรียบได้กับคนชนชั้นล่าง/กรรมกรแรงงาน ผู้มักถูกขุนให้อิ่มหนำอ้วนพี (ด้วยการกินเศษอาหารเหลือ) แล้วกดขี่ข่มเหงสารพัดเพ มักโดนผู้มีสติปัญญาสูงกว่าหลอกใช้งานที่เกี่ยวกับพละกำลังร่างกาย อาทิ กลายเป็นล้อรถ, ว่ายน้ำตะเกียกตะกายข้ามมหาสมุทร ฯ
เกร็ด: ผู้กำกับ Chomet เล่าว่าได้แรงบันดาลใจ Bruno จากหมาตัวหนึ่ง ที่เขาพบเจอบนท้องถนน Montpellier, France อธิบายแบบเว่อๆว่า ‘an absolutely enormous and fat dog.’
ถักโครเชต์ได้กลายเป็นงานอนิเรกของคุณยายไปเรียบร้อย รูปลักษณ์ของเธอตัวเล็กเตี้ยป้อม ดวงตาอยู่ในแว่นไม่เคยถอด (สวมอยู่ในวิสัยทัศน์) เท้าสองข้างสูงไม่เท่ากัน (โรคเท้าปุก, Clubfoot) ข้างหนึ่งใส่ส้นสูง อีกข้างใส่ส้นต่ำ (นัยยะถึง ความไม่เท่าเทียมกันของชีวิต เมื่อตนเองไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จใดๆ เลยคาดหวังเตรียมการให้ลูกหลานทำตามความฝันตนเองสำเร็จ) และพกพานกหวีดติดตัวตลอดเวลา เรียกว่าเป็นคนมีจังหวะในชีวิต
เพราะที่บ้านมีเปียโน ย่อมแสดงถึงความสามารถ/สนใจของเธอในอดีต แถมชื่นชอบหลงใหลวง The Triplets of Belleville (น่าจะตั้งแต่เมื่อครั้นยังสาวสวย) คาดว่าอาจเคยเป็นนักดนตรีมีฝีมือ แถมสามารถใช้ส้อมเสียงปรับจูนล้อจักรยาน ดังเป็นจังหวะทำนองเครื่องดนตรี (โห! ทำได้ถึงขนาดนี้ต้องระดับยอดยอดฝีมือแล้วละ)
นี่เป็น Sequence ที่ผู้กำกับ Chomet บอกว่าชื่นชอบสุดแล้ว (คงเพราะการเลือกใช้บทเพลงของ Mozart ประกอบเข้ากับโทนอารมณ์พายุคลั่ง) เรือเดินสมุทรลำยักษ์สูงใหญ่ นี่ผมก็ไม่รู้ล้อเลียนอะไรนะ คงเพื่อให้สามารถขนส่งคนจำนวนทีละมาก เติมเต็มความเพ้อฝันทะเยอทะยานของผู้โหยหายอิสรภาพในดินแดนโลกใหม่
ตรงกันข้ามกับ Madame Souza และหมาน้อย Bruno ที่คงเทียบความสมจริงไม่ได้แน่ แต่สื่อความถึงการไล่ล่าติดตาม พบเจออุปสรรคขวากหนามคลื่นคลั่งลมพายุแรงขนาดไหน ก็เหมือนพระมหาชนก ตราบใดไม่ย่อท้อแท้ย่อมสามารถไปได้ถึงฝั่งฝัน
เป็น Establish Shot ของเมือง Belleville ที่โคตรเจ๋ง ภาพค่อยๆเคลื่อนลง Tilt Down จากท้องฟ้าสูงสุดผ่านตึกสูงโคตรๆ สูงกลางๆ ตึกธรรมดา สลัม พื้นดิน และมาลงเอยที่ท่าเรือ เทพีเสรีภาพกลายเป็นหญิงอวบอ้วนป้อม มือซ้ายถือแฮมเบอร์เกอร์ มือขวายกชูโคนไอศรีม นี่คือดินแดนแห่งการบริโภคกินได้ทุกสิ่งอย่าง
แฮมเบอร์เกอร์ ถือเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศอเมริกา อาหาร Fast Food คุณค่าทางโภชนาการน้อยนิด แต่มีความสะดวกรวดเร็ว และราคาแสนถูก (แต่มาขายเมืองไทยมันก็ไม่ราคาถูกเลยนะ!)
ขณะที่อีกมือชูไอศกรีมของหวาน(เย็น) ถือเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับคบเพลิงไฟ(ร้อน) จากเคยเป็นแสงสว่างนำทางเสรีภาพ ก็กลับกลายเป็นความมืดมิดมัวหม่นถูกลักพาตัว (ไร้ซึ่งเสรีภาพ)
Belleville ไม่ได้เลียนแบบเมืองหนึ่งใดของประเทศอเมริกา แต่คือส่วนผสมคลุกเคล้าของ New York, Quebec และ Montreal ถือเป็นตัวแทนของ ‘ทวีปอเมริกา’ สถานที่มีความบิดเบี้ยวบูดบวม สะท้อนเสียดสีผู้คนจากทวีปนี้ออกมาตรงๆ
เพื่อที่จะติดตามหาตัวหลานชาย ครั้งหนึ่งคุณยาย Souza ปลอมตัวเป็นหญิงตาบอด ให้หมาอ้วน Bruno ดมกลิ่นนำทาง ขณะข้ามถนนขนาดว่าลูกเสืออาสาสมัครตั้งใจจะพาข้าม (เมิง)จะเสือกอะไร!, การเสแสร้งตาบอด เพื่อสร้างข้ออ้างไม่รับรู้สนใจทุกสิ่งอย่างอื่นที่เกิดขึ้นรอบกาย ไม่ว่าจะดีชั่วถูกผิด เฉพาะเป้าหมายที่เพ่งเล็งอยู่เท่านั้นเป็นสำคัญสุด
ท้องถนนของเมือง Belleville สิ่งที่ผมชอบมากๆคืออนิเมชั่นการเคลื่อนไหวของพลเมืองผู้อ้วนท้วนสมบูรณ์นี้ มันมีจังหวะลีลากระเพื่อมพุ่ง แบบนี้เรียกเชื่องช้าแต่มั่นคงสินะ
กบ เป็นสัตว์ที่มีวัฏจักรวงจรชีวิต เมตามอร์โฟซีสแบบสมบูรณ์สี่ระยะ ไข่ -> ลูกอ๊อด -> ลูกกบ -> ตัวเต็มวัย ซึ่งช่วงขณะที่ถูกจับกินคือตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ถูกต้ม ปิ้งย่าง บดละเอียด ก็เหมือนมนุษย์สาวแก่เหล่านี้ที่ต้องเผชิญกับการทำงานใช้ชีวิต ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จ ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลืออะไรนอกจากอดีตความทรงจำ
นอกจากนี้ กบยังเป็นสัตว์สะเทิ้นบกสะเทิ้นน้ำ คือมีความสามารถในการปรับตัวอาศัยอยู่ไหนก็ นี่สะท้อนความเยาว์-แก่ ที่เมื่อสมัยวัยรุ่น สาวๆวง The Triplets of Belleville คือนักร้อง-เล่น-เต้น แนว Swing Jazz พอสูงสัยเอาทุกสิ่งอย่างรอบตัวมาใช้เป็นเครื่องดนตรี ก่อกำเนิดเสียงและจังหวะกลายเป็นเพลง
สองขาหลังของกบ มีพละกำลังวังชาแข็งแกร่ง สามารถกระโดดได้ไกล แต่ว่าไปก็แอบเหมือนนักปั่นจักรยานน่องเหล็ก คงไม่ผิดอะไรจะสื่อถึงหลานชาย Champion ที่ตอนถูกระเบิดลงมีตัวหนึ่งยังไม่ตาย พยายามกระเสือกระสนดิ้นรนเอาตัวรอด … แต่ใช่ว่าทุกตัวที่หนีจะสามารถกลับลงน้ำสู่บ้านของมันได้ มีตัวหนึ่งได้รับการปล่อยออกทางหน้าต่าง ไม่ทันไรโดนเหยียบโดยรถไฟ เจ้าหมาอ้วนเห็นถึงกับหัวหน
บริกรที่มีร่างกายกรรม สามารถโค้งตัวลงแทบจะ 360 องศา เป็นการล้อเลียนถึงความนอบน้อม โอนอ่อนของพวกขี้ประจบสอพลอ ชอบเลียแข้งเลียขา ยกย่องเชิดชูบุคคลผู้มิได้มีความน่านับถืออะไร
ขณะที่บอดี้การ์ด/มาเฟีย ตัวสีเหลี่ยมแข็งทื่อ ถือว่าตรงกันข้าม เป็นพวกไม่ยอมก้มหัวให้ใคร มีหน้าที่คอยปกป้องเจ้านายเหมือนผนังกำแพงตึก เวลาเคลื่อนไหวทำอะไรมักราวกับหุ่นยนต์ ไปในทิศทางเดียวกัน สวมแว่นดำ Men in Black
และเจ้าพ่อมาเฟีย ตัวเล็กกระจิดริด (แต่มีอำนาจล้นฟ้า) จมูกแดงกล่ำ (เหมือนเจ้าตูบ) พบเห็นเอาแต่ซบหน้าลงบนโต๊ะ ไม่เคยเงยหน้าลืมตา (ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์) แค่ขยับไปป์ก็สามารถออกค่ำสั่งให้ลูกน้องทั้งหลายทำตามได้
คฤหาสถ์/ปราสาท/ตึกของมาเฟียฝรั่งเศส ออกแบบให้ด้านบนมีรูปทรงเหมือนขวดเหล้าตั้งตระหง่านสูงเสียดพระจันทร์ นี่เป็นการล้อเลียนถึงธุรกิจของมึนเมา ที่มักประสบความสำเร็จร่ำรวยค่ำฟ้า มีอำนาจอิทธิพลเหนือใคร และเกี่ยวข้องกับพวกนักเลงอันธพาลที่สุดแล้ว
เหตุผลของการลักพาตัวนักปั่นส่งตรงจากฝรั่งเศส ก็เพื่อนำมาแข่งขันปั่นจักรยานในระดับใต้ดิน พนันขันต่อให้เงินสะพัดในหมู่แก๊งค์มาเฟีย แต่เพราะเมือง Belleville ไม่มีถนนหนทางสถานที่โล่งแจ้ง (ตรงกันข้ามทุกอย่างกับตอน Tour de France) เลยใช้การฉายภาพยนตร์และเครื่องปั่นจักรยานในร่ม ให้จินตนาการขับเคลื่อนสู่ความเป้าหมายปลายทางความสำเร็จ ซึ่งถ้าคราวนี้ใครยังไปไม่ถึงหมดเรี่ยวแรงยอมแพ้ลงก่อน ก็จักถูกเข่นฆ่าตายจริงๆ (เพราะถ้าแค่ในจินตนาการชีวิตยังไม่ประสบความสำเร็จ จะเกิดมาทำไมบนโลกนี้)
เพราะความที่ทั้งสามคนนี้ คือผู้พ่ายยอมแพ้ในสนามจริง Tour de France นี่ไม่ใช่การได้รับโอกาสสอง แต่คือพิสูจน์คุณค่าของตนเองในสนามลำลอง ว่ามีศักยภาพในการแข่งขัน/ทำงาน ไต่เต้าแล้วประสบพบเจอความสำเร็จในชีวิตบ้างหรือเปล่า,
ซึ่งเจ้าเครื่องปั่นจักรยานนี้ จักค่อยๆพุ่งทะยานออกสู่ท้องถนนเมือง Belleville นี่สะท้อนถึงความฝันและความจริงที่คาบเกี่ยวเนื่อง จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งได้กลับกลายเป็นสิ่งเดียวกัน (ชัยชนะในสนามแห่งความฝัน = การเอาตัวรอดหลบหนีมาเฟียพ้นในสนามจริง)
เชื่อว่าหลายคนคงไม่ขำ/ขำไม่ออก ในฉากการหนีไล่ล่า เพราะมันหาได้มีความสมจริงสักกะนิด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่อนิเมชั่นเรื่องนี้นำเสนอเลยนะครับ ให้ลองพยายามครุ่นคิดตามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างการไล่ลา มันมีเหตุผลอะไรทำให้ผลลัพท์กลายเป็นเช่นนั้น ก็อาจเกิดความบันเทิงเริงใจขึ้นมาก็เป็นได้ อาทิ
– คันนำเปลี่ยนทิศทาง 90 องศา คันอื่นตามมาเข้าโค้งไม่ทัน ดริฟท์ไถลถูกชนออกนอกลู่ทาง, การทำงานถ้ามัวแต่ติดตามหลังผู้อื่น มันจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ และถ้าเขามีการปรับเปลี่ยนแผนการกลยุทธ์ เราแก้ไขติดตามไม่ทันก็ล่มจมพอดี
– รถเเข็นด็ก, รถบรรทุกข้ามถนน หลบทันก็รอดตัว ไม่ทันก็เหยียบเบรคมิดกลายเป็นรถเราพังซะงั้น, อุปสรรคอันตรายเบื้องหน้า เป็นสิ่งคาดการณ์ไม่ถึงเสมอ ถ้าเราสามารถหลบหลีกแก้ไขย่อมเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าไม่เผชิญหน้าเต็มๆคงพบแต่ความสูญเสีย
– เมื่อไล่ติดตามคู่แข่งระยะประชั้นชิด ก็เริ่มมีการแลกเปลี่ยนตอบโต้ ยิงปืนไปถูกเขวี้ยงขว้างโน่นนี่นั่นกลับมา ไม่ทันระวังตัวก็เกิดอันตรายพ่ายแพ้
– ทางข้ามรถไฟตัดหน้า จะเรียกว่าจุดเสี่ยงของธุรกิจก็ได้ ข้ามทันก็ออกนำหน้า มาช้าทนรอไปไม่กี่วินาทีเท่านั้นละ
– คันรองสุดท้ายขับตามไต่ขึ้นเนิน แต่เพราะคนนั่งด้านหลังหนักกว่ากระโปรงหน้า ทำให้รถยกตัวกลิ้งม้วนตกลงไม่เป็นท่า, นัยยะขณะนี้คือความไม่สมดุลของการทำงาน เมื่อมัวแต่ใช้กำลังของผู้อื่น/เครื่องยนต์ แล้วตนเองนั่งสบายอยู่ด้านหลัง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งของชีวิตก็มิสามารถไปต่อได้เอง ผิดกับทีมของคุณยาย มีการลงมาร่วมด้วยช่วยผลักดัน ทำให้สามารถไปถึงจุดสูงสุดสำเร็จ
แซว: ฉากทางข้ามรถไฟ เพราะ Trauma ของเจ้าหมา Bruno ที่เกือบจะข้ามไม่ทัน มันเห่าหอนอย่างเมามัน พอรอดตายหวุดหวิดก็ร้องเอ๋งๆ (ราวกับถูกชน)
สรุปแล้วทั้ง Sequence สื่อถึงการแข่งขันในธุรกิจ มีผู้นำเริ่มต้น และผู้ติดตามลอกเลียนแบบ แต่ฝ่ายที่จะได้รับชัยชนะย่อมคือ ผู้ไปถึงเนินเขาสูงสุดเส้นชัยก่อน (ไอ้พวกตามมาทีหลังของปลอม โดนขัดขาตกลงในป่องเรือสำราญ ไม่เหลือเศษซากชิ้นดี)
ผมมองช็อตนี้เป็นการล้อเลียนโลโก้ปราสาทของสตูดิโอ Disney แต่แทนที่จะเป็นพระราชวังอาศัยของเจ้าชาย-เจ้าหญิง กลับเป็นที่สิงสถิตย์อยู่ของพลเมือง Belleville ผู้เต็มไปด้วยความคดโกงกินคอรัปชั่น (ประสบการณ์ตรงของผู้กำกับเลยนะเนี่ย) ขณะที่พลุสามสีเรียง น้ำเงิน-ขาว-แดง นั่นลวดลายธงชาติฝรั่งเศส คงเป็นการประกาศชัยชนะ เหนือผู้มีอิทธิพลมาเฟีย(ในวงการอนิเมชั่น)
มีอีกหลาย Easter Egg ที่เป็นการล้อเลียด เสียดสี Anti-Disney อาทิเช่น
– ก้อนอุจาระในโถส้วม มีลักษณะเหมือน Mickey Mouse
– รูปถ่ายในกระเป๋าสตางค์ ช่างซ่อมจักรยานไปเที่ยว Disneyland สวมหู Mickey แล้วถือป้ายเขียนว่า Sucker
กาลเวลาล่วงเลยผ่าน Flashforward สู่อนาคตเมื่อครั้น Champion กลายเป็นชายแก่ โทนสีน้ำเงินให้สัมผัสเย็นยะเยือก โดดเดี่ยวอ้างว้าง คงใกล้ถึงความตายเต็มทน สิ่งของอุปกรณ์ประกอบฉากนี้ ล้วนคือทุกสิ่งสำคัญในชีวิตที่ผ่านมา กำลังหวนระลึกถึงอดีต ความทรงจำฉายผ่านโทรทัศน์ที่ยังมีสีสันสดใสกว่าปัจจุบัน
เรื่องราวของอนิเมะเล่าผ่านมุมมองของ Madame Souza ที่ต้องการพบเห็นความสำเร็จของหลาน Champion ให้สามารถขี่จักรยานขึ้นเนินสูง ได้รับชัยชนะอันดับหนึ่ง แต่เมื่อมิอาจไปไม่ถึง ยอมพ่ายแพ้ระหว่างทาง เธอจึงต้องออกติดตามหา ปลุกให้ตื่น หนีจากฝันร้าย เรียนรู้จักเผชิญหน้ากับโลกความเป็นจริง ชีวิตนี้ไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวเกรง
เว้นเพียง Prologue และ Epilogue ที่มองได้คือ Flashback และ Flashforward ใช้การเล่าผ่านโทรทัศน์แห่งกาลเวลา หรือจะมองว่าทุกสิ่งอย่างคือความทรงจำที่อยู่ในหัวของ Souza (ตอน Prologue) และ Champion (ตอน Epilogue)
ในส่วนของเนื้อเรื่อง ยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 องก์ มีความแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
– ครึ่งแรกดำเนินในฝรั่งเศส แข่งขันปั่นจักรยาน Tour de France ยามกลางวันแดดจ้าร้อนแรง และหลานรักถูกชายชุดดำลักพาตัว
– ครึ่งหลังมุ่งสู่ Belleville แข่งขันปั่นจักรยานใต้ดิน ยามค่ำคืนดึกดื่นด้วยจอภาพเคลื่อนไหว และได้รับการช่วยเหลือโดยสามสาวแก่ The Triplets of Belleville
เพลงประกอบโดย Benoît Charest นักกีตาร์ แต่งเพลงสัญชาติ Canadian, บทเพลงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับเรื่องราวเหตุการณ์ขณะนั้น อาทิเช่น ในความฝันของเจ้าหมาอ้วน Bruno กำลังพุ่งทะยานบนหัวเครื่องจักร ใช้เสียงกลองอย่างเดียวสร้างความเร้าใจ, เมื่อ Champion ยินยอมพ่ายแพ้ ถูกลักพาตัวขึ้นเรือ เลือกใช้บทเพลงคลาสสิกอมตะสะท้อนความท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก, ขณะหลบหนีจากการไล่ล่าของมาเฟีย ตื่นเต้นเร้าใจนึกว่าหนัง James Bond
บทเพลงที่กลายเป็นตำนานและได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song ชื่อ Belleville Rendez-vous แนว Swing Jazz เนื้อร้องโดย Sylvain Chomet ขับร้องในอนิเมะโดย Béatrice Bonifassi ขณะที่ฉบับวางขายรวมอัลบัมแยกโดย Matthieu Chedid (นำฉบับที่ Chedid ร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสมาให้รับฟัง)
เพลงนี้ยังได้รับประยุกต์ดัดแปลง นำอุปกรณ์ใช้ในบ้านๆจริง มาเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดง อาทิ เครื่องดูดฝุ่น, ตะแกรงตู้เย็น, หนังสือพิมพ์ และซี่ล้อจักรยาน ตั้งชื่อชุดการแสดงนี้ว่า Vacuum Cleaner Cabaret
ตอนที่ Madame Souza กับเจ้าหมา Bruno ล่องเรือออกสู่มหาสมุทรตามติด Champion ผ่านฟ้าฝนพายุคลั่ง อนิเมะเลือกใช้ Mozart: Mass in C minor, K427: Kyrie [ใครเคยรับชม Amadeus (1984) น่าจะเคยผ่านหูมาบ้าง]
The Triplets of Belleville คือเรื่องราวของสามสิ่งมีชีวิต
– Champion ผู้มีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ทำการทดลองต่อสู้แข่งขัน พบเจอความพ่ายแพ้ท้อแท้สิ้นหวัง ต่อมาเมื่อได้รับกำลังใจฮึกเหิม จึงมีพลังได้รับชัยชนะประสบความสำเร็จสูงสุด
– Madame Souza มนุษย์ยายผู้คอยช่วยเหลือสนับสนุนหลัง เพื่อให้หลานประสบพบเจอความสำเร็จ ชี้ชักนำทางให้สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเองในสังคม
– Bruno หมาอ้วนจอมขี้เกียจ วันๆเอาแต่เพ้อฝันหวาน วิ่งวนเวียน และเห่าหอน มิสามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้สักอย่าง
โดยไม่รู้ตัวพวกเขากำลังอยู่ในเรือลำเดียวกัน จึงต้องช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย ให้สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางความสำเร็จ
– Bruno ที่เอาแต่เพ้อฝันหวาน แม้สติปัญญามีไม่มาก แต่พละกำลังมีประโยชน์ใช้สอย
– Madame Souza ร่างเล็กทำอะไรด้วยตนเองไม่ค่อยได้ แต่มีสติปัญญาความเฉลียวฉลาด แก้ไขปัญหาอะไรๆได้แทบทุกเรื่อง
– Champion ผู้คือความหวังของทั้ง Souza กับ Bruno ที่ต้องเริ่มจากเอาชนะตนเอง ถึงค่อยแข่งขันมีชัยต่อผู้อื่น
การต่อสู้ดิ้นรน ตะเกียกตะกายเอาตัวรอด ถือเป็นวิถีของทุกสิ่งมีชีวิต, สำหรับกบ แม้อายุไขของมันจะสั้น แต่ก็ยังต้องปรับตัวเพราะวัฏจักรชีวิตที่มีถึง 4 ระยะ ขณะที่มนุษย์ไม่ว่าจะคุณยาย Souza, เด็ก-ผู้ใหญ่-คนแก่ Champion, สามสาว-แก่ แห่งวง The Triplets of Belleville ถ้าไม่รู้จักพัฒนาปรับปรุงตัวเอง ย่อมมิอาจเอาตัวรอดในยุคสมัย/กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ในโลกยุคสมัยใหม่ ผู้คนแข่งกันด้วยความเร็ว ก็เหมือนการปั่นซิ่งจักรยานขึ้นเนินเขาสูง ใครถึงเส้นชัยก่อนย่อมได้รับชัยชนะประสบความสำเร็จ ที่เหลือตามหลังคือผู้พ่ายแพ้ เงินรางวัล/ความภาคภูมิใจก็ลดหย่อยน้อยลงมา และมีพวกไปไม่ถึงล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน มักถูกมองว่าเป็นคนไร้ศักยภาพคุณค่า ดีแต่พูดเพ้อฝันหวาน เอาจริงก็เหมือนหมา (Bruno) ดีแต่เห่าหอนไม่ทำอะไร
Champion ผู้เคยพ่ายแพ้ต่อตนเอง จำต้องพิสูจน์ว่าฉันก็มีดีต่างจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะเก่ง เพ้อฝัน ดีแต่พูด เหตุเพราะเขามีผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่าง Madame Souza และเจ้าหมาอ้วน Bruno ที่รายหลังเหมือนแม้มิได้ทำอะไรให้เท่าไหร่ แต่คือกำลังใจและไก่กา (เสียงเชียร์) ให้มีพละกำลังความฮึกเหิม สามารถอดรนทนต่ออุปสรรคเหน็ดเหนื่อย จนเมื่อได้รับชัยชนะจักกลายเป็นความทรงจำฝังใจไม่รู้เลือน
อดีต แทบทุกครั้งเมื่อมองย้อนกลับ ราวกับความเพ้อฝันหวาน โลกแห่งจินตนาการแฟนตาซี มันช่างสวยงามไร้ตำหนิ เทียบกับปัจจุบันที่อะไรๆก็ดูแย่เสื่อมโทรมเลวทรามลงไปหมด ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่เสียดฟ้า เทคโนโลยีล้ำหน้าอนาคต แต่ความเจริญทางวัตถุมักสวนทางกับคุณความดีงามของจิตใจคน ซึ่งเราคงทำได้เพียงปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับยุคสมัย ตราบยังมีชีวิตก็ต้องดิ้นรน ตะเกียกตะกายเอาตัวรอดต่อไป
หลายคนอาจคิดว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ แฝงใจความต่อต้านอเมริกัน แต่ผู้กำกับ Chomet ยืนกรานว่านั่นเพียงมุมมองของการเสียดสีล้อเลียน ไม่ใช่การแสดงทัศนะรังเกียจต่อต้าน
“Triplets’ is caricature — it’s not anti-American. When I do caricature, I’m not ‘anti’ that person. I do caricature of someone I like very much because that way, they understand it”.
ด้วยทุนสร้าง $9.5 ล้านเหรียญ รายรับทั่วโลก $14.8 ล้านเหรียญ แม้ไม่กำไรเท่าไหร่แต่ได้เข้าชิง Oscar สองสาขา
– Best Animated Feature [พ่ายให้กับ Finding Nemo (2003)]
– Best Music, Original Song บทเพลง Belleville Rendez-Vous
กับคนที่ชื่นชอบผลงานของผู้กำกับ Jacques Tati เชื่อว่าจะได้หลงใหลคลั่งไคล้อนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมากแน่ๆ ผมก็คนหนึ่งตกหลุมรักแบบโงหัวไม่ขึ้น ชื่นชมในไดเรคชั่นการเคารพคารวะ แถมยังสานต่อยอดสร้างโลกใหม่ด้วยวิสัยทัศน์สุดล้ำ สามารถปั่นจักรยานขึ้นสู่เทือกเขาที่ไม่มีใครเคยขึ้นถึงมาก่อน
แนะนำคออนิเมชั่น แนวผจญภัย Satire Comedy, ชื่นชอบกึ่งหนังเงียบ เน้นการกระทำไม่พูดมาก, ศิลปินจิตรกร นักวาดภาพออกแบบ, นักปั่นจักรยานทั้งหลาย, หลงใหลในบรรยากาศทศวรรษ 30s ดนตรี Swing Jazz, รู้จักผู้กำกับ Sylvain Chomet ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความบิดเบี้ยวพิศดาร และการลักพาตัว
Leave a Reply